กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท ไบโอไซ (ไทยแลนด์) จำกัด ในเครือ VSN international จากประเทศอังกฤษ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยร่วมกัน เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการใช้ระบบการจัดการงานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือระบบ BMS (Breeding Management System) ในการปรับปรุงพันธุ์ในภูมิภาคอาเซียน และการประยุกต์ใช้ BMS กับโครงการปรับปรุงพันธุ์พืชแต่ละชนิด
รวมถึงความร่วมมืออื่นๆ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเกษตร โดยมี Mr. Richard Porter (นายริชาร์ต พอร์เตอร์) ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าระหว่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต สหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย เป็นตัวแทนเอกอัครราชทูตอังกฤษ ให้การต้อนรับและร่วมในพิธีลงนาม โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และ Mr. Stewart John Andrews, Director บริษัท ไบโอไซ (ไทยแลนด์) จำกัด, ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และ Dr. Donghui Ma, CEO บริษัท ไบโอไซ (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมลงนาม
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้รับการแต่งตั้งจาก Generation Challenge Program (GCP) ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน เพื่อบริหารและจัดการระบบงานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชอย่างเป็นระบบ หรือระบบ BMS (Breeding Management System) ที่พัฒนาโดย GCP เป็นเครื่องมือช่วยจัดการและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างนักปรับปรุงพันธุ์ เพื่อสืบค้นประมวลผล และนำข้อมูลกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สวทช. ได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรสำหรับการดำเนินงานดังกล่าว พร้อมทั้งร่วมผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงและจัดเก็บข้อมูลงานวิจัยด้านพืชอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากพืชสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด เป็นต้น จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท ไบโอไซ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทในเครือ VSN international (VSNi) จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ในงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อร่วมกันส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการใช้ระบบ BMS ในการปรับปรุงพันธุ์ในภูมิภาคอาเซียน และประยุกต์ใช้ระบบ BMS ให้เหมาะสมกับการใช้งานของโครงการปรับปรุงพันธุ์พืชแต่ละชนิด รวมถึงความร่วมมืออื่นๆ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเกษตร (IT for Agriculture) ด้วย”
“สำหรับการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการใช้ระบบ BMS ที่ผ่านมา ไบโอเทค สวทช. ได้เน้นการอบรมเพื่อแนะนำการใช้ระบบให้กับนักปรับปรุงพันธุ์พืชทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย รวมถึงจัดอบรมการใช้ระบบให้กับนักปรับปรุงพันธุ์พืชในส่วนภูมิภาคประกอบด้วย Data Management เป็นการแนะนำระบบซอฟต์แวร์ BMS และการจัดการงานวิจัยด้านปรับปรุงพันธุ์ เช่น ฐานข้อมูลพันธุกรรมพืช การสร้างคู่ผสม การวางแผนงานทดลอง การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติ และการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อการวิเคราะห์งานทดลองการเกษตร โดยปัจจุบันมีหน่วยงานที่ได้นำระบบ BMS มาใช้ในการดำเนินงาน
ได้แก่ 1) ห้องปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ไบโอเทค สวทช. ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวนาน้ำฝนและข้าวนาชลประทานให้ต้านทานโรค แมลง และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม 2) ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง กรมวิชาการเกษตร : ระบุลักษณะประจำพันธุ์ของเชื้อพันธุกรรมมันสำปะหลัง และ 3) ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร : การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดทนแล้งสำหรับความร่วมมือของ สวทช. และบริษัท ไบโอไซ (ไทยแลนด์) จำกัด จะเป็นเรื่องการปรับใช้ระบบ BMS ให้เหมาะสมกับการใช้งานของโครงการปรับปรุงพันธุ์พืชแต่ละชนิด รวมทั้งพัฒนา IBP Hub Website, Facebook, Twitter เพื่อเพิ่มช่องทางสื่อสารและสร้างประสิทธิภาพในการวิจัยให้มีมากขึ้นด้วย” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
ด้าน Dr. Donghui Ma (ดงฮุย หม่า), CEO บริษัท ไบโอไซ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวเสริมว่า “เราเชื่อว่าความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยระหว่าง บริษัท ไบโอไซ (ไทยแลนด์) กับ สวทช. ครั้งนี้ จะทำให้แนวคิดนี้ก่อตัวเป็นรูปธรรม และเราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือกันของภาครัฐ-ภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ไม่ใช่แค่เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มบริษัทของเราเท่านั้น แต่ PPP จะเป็นโมเดลต้นแบบของการนำองค์ความรู้และทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศมาพัฒนาต่อยอดในรูปแบบของธุรกิจ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0”
ข่าวเด่น