ไอที
รับมือภัยคุกคาม "ยุคดิจิทัล"


ในขณะที่ทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน  กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาเพื่อปรับตัวรับกับเศรษฐกิจดิจิทัล   โดย ดร.วิษณุ   เครืองาม   รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความพร้อมในการพัฒนาประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ว่า   การเปิดเผยข้อมูลที่มีอยู่จากอนาล็อกมาสู่ดิจิตอล   เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ เปิดเผยขั้นตอนการทำงานของทุกหน่วยงานให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและประชาชนสามารถใช้อ้างอิงข้อมูลร่วมกันได้ เช่น เว็บไซต์ data.go.th แหล่งค้นหาชุดข้อมูลเปิดภาครัฐ และภาษีไปไหน ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ

 

 

 


ปัจจุบันได้พัฒนาถึงเวอร์ชั่น 2 แล้วทั้งในรูปแบบเว็บไซต์ govspending.data.go.th และแอพพลิเคชั่น เป็นการเปิดประตูสู่สังคมที่กว้างที่สุดเท่าที่เคยมีมาของรัฐบาลไทย สำหรับปี 2018 จะเป็นปีข้อมูลภาครัฐอย่างแท้จริง โดยจะมีการประกาศชุดข้อมูลแห่งชาติ (National Data Set) คาดว่าจะมีชุดข้อมูลภาครัฐในโครงการนี้ประมาณ 300-500 ชุด เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อต่อยอดเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต

         

ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) างสาวสิริธิดา  พนมวัน  อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน  เปิดเผยว่า   ธปท. ได้อนุญาตให้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมทดสอบโครงการ QR Code Payment  สำหรับการให้บริการผ่านพร้อมเพย์   ที่มีความพร้อมและผ่านการทดสอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดออกจาก regulatory sandbox และสามารถให้บริการเป็นการทั่วไปได้จำนวน 5 ราย  คือ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารออมสิน


แต่ในด้านการรักษาความปลอดภัยก็มีความสำคัญไม่น้อย  โดยนายเดฟ   ดีมา กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ตลาดเกิดใหม่ เอ็กซพีเรียนซ์ เอเชียแปซิฟิก เปิดเผยข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นระบบดิจิทัลว่า  ประเทศไทยมีคะแนนอยู่ในอันดับ 8 จาก 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยได้คะแนนอยู่ที่ 2.3 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เทียบเท่า สิงคโปร์ และเหนือกว่า อินโดนีเซีย ซึ่งได้คะแนนอยู่ที่ 1.8 คะแนน


ทั้งนี้ ข้อมูลดัชนีสำหรับใช้เพื่อวัดผล นั้น มาจากข้อมูล 4 รูปแบบ ได้แก่ การใช้งานระบบดิจิทัล แนวโน้มการใช้งานอุตสาหกรรม   อัตราการฉ้อโกงทางดิจิทัล และประสิทธิภาพของบริษัทด้านการบริหารการจัดการป้องกันการฉ้อโกง โดยสำรวจใน 3 กลุ่มธุรกิจ คือ การเงิน โทรคมนาคม และค้าปลีก

          

สำหรับการศึกษาครั้งนี้พบว่า คะแนนเฉลี่ยทั่วทั้งภูมิภาคมีความเชื่อมั่นต่อบริการผ่านระบบดิจิทัลระดับต่ำ   ซึ่งคะแนนรวมของทั้งภูมิภาคมีค่าอยู่ที่ 3.2 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 โดยธุรกิจโทรคมนาคมมีระดับต่ำสุดที่ 2.1 คะแนน และธุรกิจบริการทางการเงินมีระดับคะแนนสูงสุดที่ 4.9 คะแนน   ขณะที่ในประเทศไทย พบว่า กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม ได้คะแนนดัชนีความเชื่อมั่นน้อยที่สุดคือ 0.81 คะแนน รองลงมาคือ ธุรกิจค้าปลีก 2.36 คะแนน และ ธุรกิจด้านการเงิน 3.8 คะแนน


ด้านนายนิค ไวลด์  หัวหน้าฝ่ายการป้องกันการทุจริตและอัตลักษณ์ กล่าวว่า การอยู่อันดับ 8 ใน 10 ของประเทศไทยนั้นไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้าย  เพราะคะแนนเฉลี่ยของไทยยังคงเกาะกลุ่มอยู่ในอันดับกลางๆ  ซึ่งดัชนีนี้สามารถทำให้ประเทศไทยได้เห็นและตื่นตัวในการบริหารจัดการหรือป้องกันไม่ให้เกิดการฉ้อโกงในโลกดิจิทัล


โดยหน่วยงานภาครัฐ  ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่างตื่นตัวในการหามาตรการป้องกันการฉ้อโกงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการเร่งออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยการใช้อัตลักษณ์ ผ่านใบหน้า หรือ การสแกนลายนิ้วมือ   ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คะแนนดัชนีความเชื่อมั่นในการใช้บริการระบบดิจิทัลของไทยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 พ.ย. 2560 เวลา : 10:14:09
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 11:37 pm