เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
นโยบายรัฐบาล-โรดแมพหนุนไทยติด 1 ใน 5 ตลาดที่ต่างชาติสนใจลงทุน


PwC เผยผลสำรวจซีอีโอเอเปกพบไทยติด 1 ใน 5 ตลาดที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว   ซึ่งนายศิระ  อินทรกำธรชัย   ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย  เปิดเผยถึงผลสำรวจ APEC CEO Survey 2017  ที่ใช้เผยแพร่ในการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit ประจำปี 2560   ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม   ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2560    ซึ่งทำการสำรวจผู้บริหารในกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก จำนวนกว่า 1,400 ราย  ใน 21 ประเทศว่า    ในปีนี้มีซีอีโอเอเปก 37% ที่แสดงความเชื่อมั่นมากว่า ธุรกิจและรายได้ของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะเติบโตขึ้น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2557 และเพิ่มขึ้นจาก 28% ในปีที่ผ่านมา แม้มีปัจจัยความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าและความตึงเครียดทางการเมืองของประเทศสมาชิกเอเปกหลายราย

 


 

นอกจากนี้ 50% ของผู้บริหารเอเปก  ยังมีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในตลาดโลก (รวมทั้งประเทศที่อยู่นอกภูมิภาคเอเปก) มากขึ้น   เปรียบเทียบกับ 43% ในปี 2559 โดยพบว่า 71% ของซีอีโอที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในปีนี้ จะมุ่งขยายตลาดไปในภูมิภาคเอเปกด้วยกัน ขณะที่ 63% คาดว่า จะขยายการลงทุนไปสู่ตลาดโลกมากขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า     

สำหรับประเทศที่ถูกจับตาให้เป็นเป้าหมายของการลงทุนภายในประเทศ (Domestic investment) มากที่สุดในปีนี้ ได้แก่ เวียดนาม รัสเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ในทางกลับกัน ประเทศที่ถูกจัดให้เป็นเป้าหมายของการลงทุนจากต่างประเทศ (Overseas investment) มากที่สุด ได้แก่ เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา และ ไทย    นอกจากนี้ อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ซีอีโอมาเลเซียและซีอีโอเวียดนามที่ถูกสำรวจมากถึง 89% และ 86% ยังคาดที่จะขยายธุรกิจของตนสู่ตลาดโลกอีกด้วย

ซึ่งสาเหตุที่ผู้บริหารเอเปกในปีนี้จัดอันดับให้ไทยติดอันดับประเทศเป้าหมายการลงทุนที่น่าสนใจ และคาดว่าจะได้รับเม็ดเงินจากการลงทุนของต่างประเทศมากขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า    เนื่องมาจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของไทยในการออกมาตรการและนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ดึงดูดความน่าสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ    รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายที่ล้าหลัง    เพื่อสร้างความน่าดึงดูดในการลงทุนให้กับประเทศ 

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของภาครัฐภายใต้โรดแมป ไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งพัฒนาประเทศไปสู่การเพิ่มคุณค่าให้กับแรงงานและระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มากขึ้น ยังช่วยเชื่อมต่อไทยกับประชาคมโลก ซึ่งทั้งหมดทำให้ไทยมีความน่าสนใจและกลายเป็นเป้าหมายของการเข้ามาลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติมากขึ้น   รวมถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา  ไม่ว่าจะเป็น การฟื้นตัวของตัวเลขการส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภคของครัวเรือน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสนับสนุนของความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ความเชื่อมั่นของซีอีโอเอเปกที่เพิ่มขึ้น  ยังมีส่วนกระตุ้นให้ความตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมที่จะถูกนำมาใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซีอีโอในกลุ่มอาเซียนที่มองว่า ระบบอัตโนมัติ (Automation) จะเป็นตัวแปรสำคัญของการขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กรไปสู่การพัฒนากำลังแรงงานในรูปแบบดิจิทัล   โดย 58% ของซีอีโออาเซียนระบุว่า ได้ทำการเปลี่ยนถ่ายระบบงานบางอย่างผ่านการใช้ระบบอัตโนมัติแล้ว ขณะที่ 40% กำลังลงทุนในเทคโนโลยีเกิดใหม่และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine learning) และอีก 41% ระบุว่า พนักงานมีทักษะในการใช้เครื่องมือระบบอัตโนมัติใหม่ๆ

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ซีอีโอเอเปกยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นด้วย คือ ความสามารถในการสรรหาทักษะที่ต้องการเพื่อให้องค์กรสามารถแข่งขันในเวทีระดับโลก


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 พ.ย. 2560 เวลา : 22:38:44
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 6:38 am