นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2560 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 14 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเยอรมนี ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 425 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน คนไทย 112 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 4 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 150 ล้านบาท ได้แก่ บริการทางบัญชี บริการให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานพร้อมสาธารณูปโภค บริการให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการภายในองค์กร โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเยอรมนี
2. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 2 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 64 ล้านบาท ได้แก่ บริการให้ใช้สิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับจัดเก็บข้อมูลการใช้งานและตรวจสอบการทำงานของรถยนต์ บริการให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลีสซิ่งสินค้าประเภทเครื่องล้างจานอัตโนมัติ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
3. ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาคเอกชน จำนวน 2 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 142 ล้านบาท ได้แก่ บริการออกแบบ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบ และให้คำปรึกษาแนะนำทางด้านวิศวกรรมของระบบวิทยุ (Radio System) สำหรับโครงการระบบวิทยุสำหรับรถไฟฟ้าใหม่ บริการออกแบบทางวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตโพลีออลส์ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลี และสิงคโปร์
4. ธุรกิจนายหน้าตัวแทน/ค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 6 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 69 ล้านบาท ได้แก่ การทำกิจการนายหน้าและตัวแทนในการจัดหาตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อการจำหน่ายสารเคมีชนิดพิเศษที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องหนัง การค้าปลีกแม่พิมพ์ทีใช้ในการผลิตแผ่นโลหะจับยึดแผ่นยางซึ่งเป็นส่วนประกอบของแผ่นทำความสะอาดผงหมึก การค้าส่งเม็ดพลาสติกสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตฝาแบตเตอรี่ การค้าส่งสินค้าปั๊มจ่ายน้ำมันสำหรับระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติในรถยนต์ การค้าส่งชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ประเภทข้อต่อเครื่องยนต์ การค้าส่งสินค้าประเภทโช๊คอัพรถจักรยานยนต์ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น และเยอรมนี
การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับกลไกการทำงานของเครื่องทำความสะอาดภายในอาคาร(Cleaning Machine) และระบบพ่นไอน้ำกำจัดเชื้อโรค (Steam Cleaner) องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้งาน การบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานผลิตโพลีออลส์ องค์ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งและแนวทางการใช้งานระบบให้บริการตรวจสอบการทำงานของรถยนต์ (Check Status) ติดตามสถานะรถยนต์ (Find My Car) และแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Call) วิทยาการเฉพาะด้านเกี่ยวกับกระบวนการผลิต คุณสมบัติ และการตรวจสอบคุณภาพโช๊คอัพรถจักรยานยนต์ รวมทั้งองค์ความรู้เกี่ยวกับการตั้งค่าและการวัดค่าของแผ่นทำความสะอาดผงหมึก (cleaning blade) โดยใช้เครื่องDigital Indicator เป็นต้น
ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจากเดือนก่อน 14 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 ในขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 58 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16 เนื่องจากในเดือนพฤศจิกายน 2560 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง คือ บริการให้กู้ยืมเงิน และบริการออกแบบทางวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตโพลีออลส์
อนึ่งในเดือนมกราคม–พฤศจิกายน 2560 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 262 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,102 ล้านบาท ขณะที่ในเดือนมกราคม–พฤศจิกายน 2559 คนต่างด้าวได้รับอนุญาต จำนวน 319 ราย และมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 6,481 ล้านบาท ซึ่งในปี 2559 ทั้งปี (มกราคม - ธันวาคม) คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 352 ราย และมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,443 ล้านบาท
ข่าวเด่น