เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่อง เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 โตแรง 4.3% คอนเฟิร์มการฟื้นตัว


Event

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 3 ปี 2017 ขยายตัว 4.3%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้าหรือเติบโต 1.0% หากเทียบกับไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล ทำให้ GDP ของไทยในช่วง 9 เดือนแรกขยายตัวได้ที่ 3.8%YOY

Analysis

การส่งออกสินค้า – การท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงในรูปเงินบาทในไตรมาส 3 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 19ไตรมาส ที่ 8.1%YOY จากการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า และเติบโตได้ดีในเกือบทุกตลาดส่งออก ส่งผลให้ใน 3 ไตรมาสแรกของปี เติบโตกว่า5.3%YOY ทั้งนี้ การส่งออกเติบโตได้ดีทั้งในด้านราคาและปริมาณ โดยราคาน้ำมันดิบโลกที่ยังขยายตัวในไตรมาส 3 สนับสนุนให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันเติบโตสูงถึง 25%YOY นอกจากนี้ ภาคการผลิตทั่วโลกที่เติบโตดีเกินคาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมหลักจากไทย โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเติบโตได้กว่า 11%YOY และ 4%YOY ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวก็เป็นอีกแรงสนับสนุนให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกภาคบริการขยายตัวกว่า 4.9%YOY จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในไตรมาส 3 ที่เติบโตกว่า 11.0%YOY เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียง 0.1%YOY ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เริ่มมีการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย

การส่งออกฟื้นปลุกลงทุนเอกชน ในขณะที่การลงทุนภาครัฐยังหดตัว การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 2.9%YOY จากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวได้ 4.3%YOY เป็นหลัก ซึ่งเป็นการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกสินค้าที่เติบโต ขณะที่การลงทุนในสิ่งก่อสร้างหดตัว อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐยังคงหดตัวที่ 2.6%YOY โดยลดลงทั้งการลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเนื่องจากไม่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เพิ่มเติมและบางโครงการใกล้สิ้นสุด

 

 

Implication

อีไอซีปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2017 เติบโต 3.8% จากเดิมที่ 3.6%ตามเศรษฐกิจโลกที่เติบโตได้ดีเกินคาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยหนุนการส่งออกสินค้าให้เติบโตได้ต่อในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจคู่ค้าหลักทั้ง สหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ที่มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2017ตลอดจนปี 2018 จะช่วยเสริมความเชื่อมั่นด้านการค้า การลงทุน การบริโภค และส่งผลต่อเนื่องถึงความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยให้เติบโตได้ต่อ อย่างไรก็ดี การเติบโตของภาคการส่งออกในระยะต่อไปอาจถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำและราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทที่มีแนวโน้มหดตัว อีกทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ส่งออก โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์

การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปัจจัยลบที่คลี่คลายและการสนับสนุนจากภาครัฐ แม้แนวโน้มรายได้ยังติดขัด การบริโภคในประเทศกลับมาฟื้นตัว ตามบรรยากาศการใช้จ่ายที่สดใสขึ้นหลังจากที่ผ่านพ้นช่วงอุทกภัย รวมถึงกิจกรรมการบริโภคต่างๆ ก็กลับมาดำเนินการได้หลังพ้นช่วงไว้อาลัย นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ทั้งการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านช่องทางบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการช้อปช่วยชาติในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของภาคครัวเรือนในประเทศยังค่อนข้างอ่อนแอ ทั้งจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำและจากตลาดแรงงานที่ซบเซา เห็นได้จากตัวเลขการจ้างงานในช่วง 9 เดือนแรกของปียังคงหดตัวลง 0.7%YOY โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตลดลงถึง3.2%YOY แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวของการส่งออกยังไม่ได้ส่งผ่านไปสู่การจ้างงานในอุตสาหกรรมต่างๆ มากนัก

อีไอซีมองเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่องในปี 2018 เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวเติบโตได้ ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่จะเริ่มตามมาเพื่อรองรับอุปสงค์ที่ขยายตัว รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีของบริษัทขนาดใหญ่และของธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการลงทุนภาคเอกชนของไทยระยะต่อไป ในภาพรวม หลายปัจจัยในเศรษฐกิจมีแรงส่งที่ชัดเจนขึ้น ยกเว้นกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ยังคงอ่อนแอและยังไม่เห็นสัญญาณการเติบโตที่ชัดเจน ทั้งนี้ อีไอซีประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2018 อยู่ในช่วง 3.7-3.9%YOY 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 พ.ย. 2560 เวลา : 00:48:00
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 6:35 am