บล.โกลเบล็ก มองภาวะตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการเข้าสู่ไฮซีซั่นในช่วงปลายปีขานรับมาตรการช็อปช่วยชาติ เม็ดเงินเข้าซื้อกองทุน LTF และ RMF รวมทั้งเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่แข็งแกร่ง โดยมีปัจจัยกดดันจากคาดการณ์เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมปลายปีนี้ และ Fund Flow ที่ผันผวน วางกรอบการลงทุน 1,690 - 1,730 จุด แนะลงทุนหุ้นที่คาดว่าผลการดำเนินงานได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วโดยน่าจะพลิกฟื้นได้ใน Q4/2560 ได้แก่ ANAN, COMAN, XO, MALEE, TPCH, TWPC, JUBILE และ AMA ด้านราคาทองคำ แนะนำจับจังหวะ trading ในช่วงระหว่างกรอบรับหลักที่ 1,240-1,260ดอลลาร์ กับแนวต้านจิตวิทยา 1,300 ดอลลาร์ ย้ำติดตามความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด
น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS กล่าวว่าภาพรวมตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยบวกจากสภาพัฒน์รายงานเศรษฐกิจในช่วง Q3/2560 เติบโต 4.3% ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ในช่วง 3.8 -4% รวมทั้งปรับประมาณการ GDP ปี 60 เพิ่มขึ้นสู่ 3.9% จากเดิมคาดขยายตัว 3.5-4% ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจใน Q4/2560 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นและมาตรการช็อปช่วยชาติ
รวมถึง เม็ดเงินลงทุนในกองทุน LTF และ RMF ก่อนถึงสิ้นปี และโกลด์แมน แซคส์ คาดเศรษฐกิจสหรัฐปีหน้ามีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่ง โดยได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP สหรัฐขึ้นสู่ 2.5% และปรับลดคาดการณ์อัตราว่างงานลงเหลือ 3.7% ในช่วงสิ้นปี 2561
ส่วนปัจจัยที่ยังคงกดดันภาพรวมการลงทุนในช่วงสัปดาห์นี้ ได้แก่ คณะกรรมการกำหนดโยบาย (FOMC)ของเฟดมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค. และ Fund Flow ที่ยังผันผวน ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติ Net Sell ราว 2.2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้ยังคงต้องจับตาปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญได้แก่ ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีจะเข้าสู่การของวุฒิสภาสหรัฐแม้จะมีประเด็นที่เป็นอุปสรรคจากการที่วุฒิสมาชิกรีพับลิกันพ่วงการยกเลิกเนื้อหาส่วนหนึ่งของกฎหมายโอบามาแคร์เข้ากับแผนการปฏิรูปภาษี อย่างไรก็ตามรมว.คลังสหรัฐคาดหวังว่าสภาคองเกรสจะผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของพรรครีพับลิกัน ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้คำมั่นว่าจะมอบการปรับลดภาษีครั้งใหญ่เป็นของขวัญสำหรับชาวอเมริกันในวันคริสต์มาสปีนี้
นอกจากนี้ เช้ามืดวันที่ 23 พ.ย. เฟดจะเผยแพร่รายงานการประชุมเมื่อ 31 ต.ค.-1 พ.ย. และในวันที่ 30 พ.ย.กำหนดประชุมกลุ่ม OPEC และnon-OPEC นอกโอเปกหารือเรื่องการขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมัน
ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการเข้าสู่ไฮซีซั่นในช่วงปลายปีขานรับ มาตรการช็อปช่วยชาติ เม็ดเงินเข้าซื้อกองทุน LTF และ RMF รวมทั้งเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่แข็งแกร่ง โดยมีปัจจัยกดดันจากคาดการณ์เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมปลายปีนี้ และ Fund Flow ที่ผันผวน
ดังนั้นประเมินว่า SET ในสัปดาห์นี้จะแกว่งตัวผันผวนในกรอบ 1,690 - 1,730 จุด แนะนำลงทุน หุ้นที่คาดว่าผลการดำเนินงานได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วโดยน่าจะพลิกฟื้นได้ใน Q4/2560 ได้แก่ ANAN, COMAN, XO, MALEE, TPCH, TWPC, JUBILE และ AMA และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีส่งผลให้ยอดขายและเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
สำหรับแนวทางการลงทุนในทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ความล้มเหลวในการจัดตั้งรัฐบาลผสมของเยอรมนีและมีแนวโน้มจะสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต กลายมาเป็นประเด็นลบต่อราคาทองคำเนื่องจากเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจฝั่งยุโรปที่ทำให้ค่าเงินสกุลยูโรอ่อนลง แต่ความล่าช้าของการบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปภาษีและการยื่นถอดถอนโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญของฝั่งอเมริกาที่ทำให้ค่าเงินสกุลดอลลาร์อ่อนลงเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อเงินสกุลหลักทั้งสองคานกันด้วยการผลัดกันอ่อนค่า ราคาทองคำไม่ว่าจะมองในมุมของสินทรัพย์ปลอดภัยหรือมองในมุมของค่าเงินสกุลหนึ่งย่อมมีความผันผวนตามไปด้วย แต่อย่างน้อยภาพรวมทางเทคนิคก็ฉายให้เห็นการเคลื่อนตัวในรูปแบบ round bottom การยก high ยก low ยังคงมีความต่อเนื่องตามภาวะตลาด ถือว่าเป็นภาพที่ดีสำหรับการลุ้นให้ราคาทองคำกลับขึ้นไปยืนเหนือระดับ 1,300 ดอลลาร์อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในการประชุมเดือน ธ.ค.นี้ ค่อนข้างมีความแน่นอน ส่วนในปีหน้าคาดว่าจะมีการปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปอีกราว 3-4 ครั้ง จึงยังเป็นปัจจัยหลักที่กดดันต่อราคาทองคำไม่ให้กลับทิศทางมาเป็นขาขึ้นได้โดยง่าย เว้นเสียแต่ว่าการเมืองฝั่งสหรัฐฯจะสะดุดลงแล้วต้องเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่
นอกจากนี้ ราคาทองคำในประเทศยังถูกกดดันด้วยการแข็งค่าของเงินบาทอีกต่อหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวได้ดีเกินคาดและดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับที่สูงมากอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายวิจัยจึงคงคำแนะนำให้ผู้ลงทุนจับจังหวะ trading ในช่วงระหว่างกรอบรับหลักที่ 1,240-1,260 ดอลลาร์ กับแนวต้านจิตวิทยา 1,300 ดอลลาร์ โดยควรติดตามความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด
ข่าวเด่น