ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และสงขลา เดินหน้าเยี่ยมชมโครงการด้านพลังงานทดแทนในพื้นที่ ยันส่งเสริมการใช้ก๊าซชีวภาพรูปแบบไบโอมีเทนอัด (CBG) ในภาคขนส่ง ขยายผลการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียสหกรณ์สวนยาง ขับเคลื่อนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก พร้อมติดตามการพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่เสริมความมั่นคงพลังงาน
นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงานพลังงาน เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 27 -28 พฤศจิกายน 2560 กระทรวงพลังงานได้มีภารกิจลงพื้นที่ใน 2 จังหวัดภาคใต้ เพื่อเยี่ยมชมและติดตาม ความคืบหน้าการดำเนินโครงการด้านพลังงานทดแทนในหลายเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา รวมทั้งเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้ภาพรวมการเยี่ยมชมโครงการต่างๆ มีรายละเอียดที่สำคัญๆ ได้แก่
โครงการส่งเสริมการผลิตไบโอมีเทนแบบอัด (Compressed Bio-Methane Gas) หรือ CBG บริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อลงทุนในระบบปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพ และระบบบรรจุก๊าซ CBG โดยปัจจุบัน มีปริมาณน้ำเสียจากโรงงาน ที่สามารถผลิตก๊าซ CBG ได้ประมาณ 3 ตันต่อวัน และได้นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในรถบรรทุกของบริษัท เพื่อขนส่งน้ำมันปาล์มดิบไปส่งจังหวัดชุมพรและจังหวัดชลบุรี รวมทั้งมีการขนส่งสินค้าทั่วไป เช่น แผ่นพื้นคอนกรีต เป็นต้น ซึ่งช่วยให้ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงถึง 14.27 ล้านบาทต่อปี
โดยแนวทางการส่งเสริมการใช้ CBG ดังกล่าว กระทรวงพลังงานได้มีเป้าหมายตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ให้เกิดการใช้ CBG ที่มีประสิทธิภาพ ประมาณ 4,800 ตันต่อวัน ในปี 2579 เพื่อลดการใช้น้ำมันเบนซิน ดีเซล และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) ที่มีข้อจำกัดในหลายพื้นที่ซึ่งไกลจากสถานีแม่หรือแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการผลิต CBG ดังกล่าวจากน้ำเสีย/ของเสีย จากโรงงาน ประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะผลิต CBG เพื่อใช้ในภาคขนส่ง เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมการผลิตไบโอมีเทนอัด (CBG) ของบริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด ยังเป็นความร่วมมือด้านเทคโนโลยีของเอกชนไทย-ญี่ปุ่นด้วย โดยบริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด ได้ร่วมมือกับ บริษัท โอซาก้าแก๊ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแก๊สขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศญี่ปุ่น ในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบก๊าซชีวภาพเป็นก๊าซ CBG ได้เป็นผลสำเร็จ จนสามารถเปิดเป็นสถานีบริการก๊าซ CBG แห่งแรกของภาคใต้
และได้ตรวจติดตามโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันทอนไม้ไผ่ จากสหกรณ์กองทุนสวนยาง บ้านทอนไม้ไผ่ จำกัด จ.สงขลา ซึ่งเป็นสหกรณ์ ฯ นำร่องของโครงการส่งเสริมสาธิตการผลิตก๊าซชีวภาพในสหกรณ์กองทุนสวนยาง ระยะที่ 1 จากการส่งเสริมของกองทุนอนุรักษ์พลังงาน โดยมีระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย ขนาด 521 ลูกบาศก์เมตร (กว้าง 15 เมตร ยาว 21 เมตร ลึก 3.5เมตร) ซึ่งสหกรณ์ ฯ ได้นำก๊าซชีวภาพไปใช้ประโยชน์ในการรมยางร่วมกับไม้ฟืน ทำให้ลดการใช้ไม้ฟืนได้เฉลี่ยร้อยละ 30 โดยทดแทนไม้ฟืนได้ 203.86 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าที่ประหยัดได้ 132,510 บาทต่อปี และก๊าซชีวภาพบางส่วนย้ำสามารถนำไปใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม(LPG) ในการประกอบอาหารของคนงานในสหกรณ์ฯ รวมทั้งในภาพรวมยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ 127.2 ตันต่อปี
ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวเพิ่มว่า นอกจากการติดตามความคืบหน้าในโครงการด้านพลังงานทดแทนในพื้นที่ภาคใต้แล้ว กระทรวงพลังงาน ยังได้เข้าเยี่ยมฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัทย่อยของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียมดังกล่าวทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของโครงการบงกช โครงการอาทิตย์ โครงการพื้นที่ร่วมไทยมาเลเซีย รวมถึงโครงการอื่นๆ ในอ่าวไทย โดยเป็นท่าเรือรับส่งสินค้าและพัสดุอุปกรณ์ และให้บริการสนับสนุนการดำเนินงานแบบครบวงจร ได้มาตรฐานของฐานสนับสนุนการปฏิบัติการนอกชายฝั่ง และมีระบบจัดการตามระบบสากลที่มุ่งเน้นความปลอดภัยของเรือและท่าเรือระหว่างประเทศ โดยมีท่าเทียบเรือความยาว 380 เมตร สามารถรองรับเรือขนาดมากกว่า 500 ตันกรอสได้จำนวน 6 ลำพร้อมกัน ซึ่งถือว่ามีความพร้อมในการบริการและสนับสนุนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศไทยในระยะยาวต่อไป
ข่าวเด่น