สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จังหวัดน่าน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่สากลต้นแบบอย่างครบวงจร กับ 15 หน่วยงานพันธมิตรจาก 5 ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคีเครือข่ายประชารัฐ ภาคเกษตร และภาคเอกชน อาทิ กรมการค้าภายใน, บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีน่าน จำกัด, เกษตรจังหวัดน่าน, บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด (TOPS) และบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ แล็บประชารัฐ เพื่อพัฒนาคุณภาพกระบวนการผลิตและผลผลิตภาคการเกษตรของกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดน่าน พร้อมทั้งสร้างทักษะในการเป็นผู้ประกอบการภาคการเกษตรให้สามารถก้าวไปสู่การผลิตแบบอินทรีย์ตามมาตรฐานสากล และต่อยอดเป็นหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ (Organic Village)ในอนาคตอันใกล้
นายไพศาล วิมลรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า การพัฒนากระบวนการผลิตสู่เกษตรอินทรีย์จะช่วยให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่เหมาะสม ไม่ต้องเผชิญปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ และมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน โดยทางจังหวัดฯ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ จะส่งเสริมให้เกษตรกรเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต ควบคู่กับการประสานให้ภาควิชาการ ทั้งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่าน สนับสนุนองค์ความรู้ด้านข้อกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การปรับปรุงคุณภาพ การแปรรูปผลผลิต และการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) แสดงให้ผู้บริโภคทราบถึงคุณภาพและชื่อเสียงของสินค้า
นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการ แล็บประชารัฐ เปิดเผยว่า แล็บประชารัฐในฐานะหน่วยงานภาคีเครือข่ายประชารัฐ จะสนับสนุนด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตผ่านการตรวจวิเคราะห์มาตรฐาน โดยเฉพาะ “ส้มสีทอง” ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดน่าน ทางแล็บฯ ได้นำร่องตรวจสารปนเปื้อน จำนวน 65 ตัวอย่าง พบว่าผลผลิตกว่าร้อยละ 95 ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน
ทั้งนี้ สวนส้มสีทองที่ผ่านการตรวจวิเคราะห์จากแล็บประชารัฐจะได้ใบรับรองมาตรฐานสินค้าปลอดภัย พร้อมทั้งลงนามสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้ากับ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด (TOPS) ซึ่งจะรับซื้อผลผลิตโดยตรงในราคาที่เกษตรกรผู้ปลูกพึงพอใจ นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้เกษตรกร ทำให้การกระจายสินค้ามีความครอบคลุมมากขึ้น ยังช่วยให้ผู้บริโภคได้บริโภคผลไม้ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย
ข่าวเด่น