การกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ในช่วงปลายปีผ่านมาตรการช้อปช่วยชาติได้จบลงแล้ว ซึ่งยังมีมุมมองผลของมาตรการที่แตกต่างกัน
โดยนายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า มาตรการช้อปช่วยชาติที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม น่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงปลายปีได้อย่างมาก โดย สศค. ประเมินว่าจะมียอดการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 18,000-20,000 ล้านบาท
นายชำนาญ เมธปรีชากุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยถึงโครงการช้อปช่วยชาติ ว่า บรรยากาศการจับจ่ายกลุ่มเดอะมอลล์คึกคักไม่แพ้ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการขยายระยะเวลาเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภควางแผนในการใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี โดยเชื่อว่าจบแคมเปญในวันที่ 3 ธ.ค. 60 นี้ จะมีลูกค้าขอใบกำกับภาษีรวมประมาณกว่า 350,000 ใบ ส่งผลให้ยอดขายเติบโตกว่า 17% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี59 ถือเป็นอีกนโยบายของทางภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจค้าปลีกได้เป็นอย่างดีในช่วงปลายปีนี้
นางจิราพร ศรีสอ้าน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสสายงานส่งเสริมการตลาด บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้า ในเครือทั้ง 3 แห่งมีการจับจ่ายสินค้าพร้อมกับขอใบกำกับภาษีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ระหว่างวันที่ 24 – 26 พ.ย. มีนักช้อปเข้ามาใช้จ่ายภายใน 3 ศูนย์การค้า ได้แก่ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ รวมกว่า 250,000 คนต่อวัน โดยใบเสร็จที่ออกใบกำกับภาษีแล้วมาแลกของรางวัลส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ,สินค้าแฟชั่น และเครื่องใช้ไฟฟ้าและเทคโนโลยี
ซึ่งนี้ หลังจากจบมาตรการช้อปช่วยชาติแล้ว ศูนย์การค้ากลุ่มวันสยาม คือ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ยังเตรียมกระตุ้นการจับจ่ายต่อเนื่องด้วยแคมเปญสุดยิ่งใหญ่ สยาม เดอะ เกรท เซเลเบรชั่น คาดว่าจะมีจำนวนนักชอปเข้ามาจับจ่ายสร้างยอดขายให้ร้านค้าทั้ง 3 ศูนย์ฯ เพิ่ม 20%
ส่วนมุมมองนักวิชาการ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า หลังการสิ้นสุดของมาตรการช้อปช่วยชาติ (13 พ.ย.- 3 ธ.ค. 2560) 19 วัน พบว่า ผลของมาตรการช้อปช่วยชาติต่อการกระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ เม็ดเงินสะพัดไม่ถึง 10,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายที่ต้องจ่ายตามปกติอยู่แล้ว จะก่อให้เกิดการชะลอการบริโภคในระยะต่อไป มีกลุ่มคนได้ประโยชน์โดยตรงค่อนข้างจำกัด เป็นผู้เสียภาษีในอัตราภาษี 20% ขึ้นไปซึ่งเป็นกลุ่มคนเพียง 7% ของผู้ยื่นแบบเสียภาษี
ข่าวเด่น