สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดการประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) ครั้งที่ 4 (The 4 th Thai Astronomical Conference (Student Session) : TACS2017) ระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2560 ณ เรือนคุ้มภูคำ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ มียุววิจัยดาราศาสตร์จากทั่วประเทศร่วมนำเสนอผลงานกว่า 73 โครงงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในเวทีระดับชาติ หวังพัฒนาต่อยอดสู่เวทีนานาชาติ และจุดกระแสครูในโรงเรียนสร้างยุววิจัยรุ่นใหม่ให้ผลิตโครงงานดาราศาสตร์ระดับโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ปีนี้มีนักเรียนมัธยมจากประเทศมาเลเซียเดินทางมาร่วมนำเสนอผลงานร่วมกับนักเรียนและเยาวชนไทยจากทั่วประเทศ รวมแล้วกว่า 73 โครงงาน แบ่งเป็นการนำเสนอผลงานแบบบรรยายและแบบโปสเตอร์ จำนวน 45 โครงงาน จาก 24 โรงเรียน และการนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ จำนวน 28 โครงงาน จาก 16 โรงเรียน หัวข้อโครงงานที่น่าสนใจ อาทิ กิจกรรมในชมรมดาราศาสตร์ในโรงเรียน การศึกษาเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ ระบบสุริยะและดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ศึกษาระบบดาวฤกษ์ ดาราศาสตร์เชิงสังเกตการณ์ กาแล็กซีและเอกภพวิทยา อุปกรณ์และโปรแกรมทางดาราศาสตร์ เป็นต้น ผลงานที่นำเสนอภายในงาน ส่วนหนึ่งมาจากงานวิจัยของครูและนักเรียนในโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูงในความร่วมมือระหว่าง สดร. กับ สสวท. ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผู้เรียนและผู้สอนด้านดาราศาสตร์ เพื่อต่อยอดสู่การสร้างผลงานวิจัยในรูปแบบโครงงานดาราศาสตร์ในโรงเรียน มีครูเป็นผู้กำกับดูแล ให้คำปรึกษา และสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศของ สดร. สำหรับทำงานวิจัย
โดยมีเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. และผู้เชี่ยวชาญ เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์ เปิดโอกาสให้โรงเรียนจากทั่วประเทศที่สนใจส่งผลงานเข้าร่วมนำเสนอในงานดังกล่าวด้วย ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการดาราศาสตร์และกล้องโทรทรรศน์ขนาดต่าง ๆ พร้อมจัดเสวนาดาราศาสตร์ ชวนร่วมวิเคราะห์ เจาะลึก “เส้นทางสู่ดาวอังคาร : ฝันอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ” เราสามารถตั้งรกรากสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารได้จริงหรือไม่? จะอาศัยอยู่บนดาวอังคารได้อย่างไร? การเดินทางจากโลกสู่ดาวอังคารไปอย่างไร? ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
ด้านนายมติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญทางดาราศาสตร์และที่ปรึกษาโครงการอบรมครูฯ ขั้นสูง กล่าวถึงภาพรวมของงานในปีนี้ว่า มีโรงเรียนจากทั่วประเทศสนใจส่งผลงานเข้าร่วมนำเสนอเพิ่มมากขึ้นเทียบกับปีผ่านมา แสดงให้เห็นว่าเยาวชนไทยสนใจทำโครงงานดาราศาสตร์ สนใจที่จะเรียนรู้ดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากขึ้น มีหัวข้อโครงงานค่อนข้างหลากหลาย ถือเป็นสัญญาณที่ดี แสดงให้เห็นว่าเยาวชนรุ่นใหม่มีความคิด มีความพยายามตั้งคำถามและหาคำตอบในรูปแบบของตัวเอง หวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อน้อง ๆ นักเรียน โดยเฉพาะข้อคิด ข้อแนะนำจากคณะกรรมการ เกี่ยวกับกระบวนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์ นำไปปรับใช้และพัฒนาโครงงานดาราศาสตร์ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งเป็นความมุ่งหวังของ สดร. ที่ต้องการเปิดเวทีนี้แก่เยาวชนหรือยุววิจัยไทย ได้มีโอกาสมาแสดงผลงาน และยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ที่สนใจ ได้ริเริ่มทำโครงงานดาราศาสตร์กันเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการนำเสนอผลงานบนเวทีระดับประเทศในครั้งนี้ ยังสามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและการศึกษาต่อในอนาคต
นางสาวกันต์กนิษฐ์ ผลพอตน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมนำเสนอผลงานในครั้งนี้ เพราะได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับฟังโครงงานของเพื่อน ๆ ที่ต่อยอดจากโครงการปีที่แล้ว ฟังเสวนาและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สำหรับตนเองได้นำเสนอผลงานการออกแบบและการสร้าง Tracking Mount สำหรับกล้อง DSRL เพื่อถ่ายภาพแบบติดตามดาว เนื่องจากส่วนตัวชอบดูดาว และชอบการถ่ายภาพดาราศาสตร์ และเห็นว่าการถ่ายภาพต้องใช้อุปกรณ์ติดตามดาวแบบพกพา เพื่อใช้สำหรับถ่ายภาพดวงดาวแบบติดตามวัตถุท้องฟ้า โดยติดตั้งอุปกรณ์ตามดาวบนขาตั้งกล้องร่วมกับกล้องถ่ายภาพ ซึ่งหากสั่งซื้ออุปกรณ์ชนิดนี้จะมีราคาค่อนข้างสูง จึงต่อยอดทำเรื่องนี้โดยเขียนแบบและประดิษฐ์อุปกรณ์ตามดาวอย่างง่ายขึ้นเองในราคาถูก การนำเสนอครั้งนี้ พี่ ๆ กรรมการจากสดร. ได้แนะนำเรื่องการปรับปรุงลักษณะอุปกรณ์ให้มีน้ำหนักเบา กะทัดรัดขึ้น ซึ่งตนจะนำไปปรับแก้และนำมาเสนออีกครั้ง หากใครที่สนใจและอยากนำเสนอผลงานดาราศาสตร์ แนะนำให้มาร่วมงานนี้ เพราะจะได้ทั้งความรู้ความเข้าใจด้านดาราศาสตร์มากขึ้น เปิดโลกทัศน์การเรียนรู้นอกห้องเรียน และได้สัมผัสประสบการณ์จริง
นางสาวทอแสง ลี้สงวน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย มุกดาหาร กล่าวว่า ตนเองรู้จักงาน TACS จากรุ่นพี่ที่ส่งผลงานเข้าร่วมต่อเนื่องทุกปี หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการณ์ด้านดาราศาสตร์ขั้นสูงของ สดร. ก็ได้รับโจทย์ให้คิดหัวข้อโครงงาน เป็นที่มาของ “การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับสีของดวงอาทิตย์” ซึ่งเกิดจากการสังเกตเห็นเรื่องใกล้ตัวอย่างสีของขอบฟ้าที่เปลี่ยนไปเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยด้านอุณหภูมิ ความเร็วลม และตำแหน่งมุมเงย แปรผันตรงกับสีของดวงอาทิตย์ ในขณะที่ปัจจัยด้านความชื้นสัมพัทธ์นั้นจะแปรผกผัน ทั้งนี้นางสาวทอแสงได้กล่าวอีกว่า ผู้เข้าร่วมงานไม่จำเป็นต้องเก่งมาตั้งแต่แรก เพียงแค่มีความสนใจในด้านนี้แล้วลองหาข้อมูลมานำเสนอดู ทีมงาน สดร. ก็พร้อมจะช่วย
ด้านนายชิน กอก จุง ครูผู้ดูแลชมรมดาราศาสตร์จากโรงเรียนมัธยมซาบาห์ไชนีส ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ทราบข่าวการจัดงานประชุมฯ ในครั้งนี้จากเพื่อนในเฟซบุ๊ก ทางชมรมกำลังสนใจศึกษาเรื่องการถ่ายภาพดาราศาสตร์ และเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีจึงส่งโครงงานดาราศาสตร์ในหัวข้อ Galileo’s Discoveries Revisited เข้าร่วมนำเสนอในครั้งนี้ เป็นการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าที่กาลิเลโอเป็นผู้ค้นพบ ได้แก่ วงแหวนของดาวเสาร์ ปล่องภูเขาไฟบนดวงจันทร์ และจุดดับบนดวงอาทิตย์ เพื่อยืนยันทฤษฎีต่างๆ ที่กาลิเลโอค้นพบและเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาดารา ศาสตร์สมัยใหม่
นายชิน กอก จุง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในงานนี้ เขาได้เห็นนักเรียนไทยที่กระตือรือร้นและหลงใหลในเรื่องดาราศาสตร์ นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทย เนื่องจากที่มาเลเซียยังไม่มีหน่วยงานที่สนับสนุนด้านดาราศาสตร์อย่างจริงจัง ผู้ที่สนใจด้านดาราศาสตร์จึงไม่ค่อยมีโอกาสได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ดังนั้นสำหรับประเทศไทยแล้ว สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติถือว่าสามารถทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม
ข่าวเด่น