หลังจากภาครัฐออกมาประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับไปเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบกฎหมายภาษีสรรพสามิตและแนวทางการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส เป็นสากล และลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เริ่มแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝั่งเห็นด้วยกับมาตรการภาษีใหม่ เนื่องจากยังไม่เสียประโยชน์จากการแข่งขัน และฝั่งที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากยังคงเสียเปรียบในด้านของการแข่งขัน
นอกจากนี้ การที่ภาครัฐออกมาเข้มงวดในด้านของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551) เนื่องจากต้องการแก้ไขและลดทอนปัญหานักดื่มก่อนวัย อุบัติเหตุบนท้องถนน ปัญหาสังคมที่เกิดจากแอลกอฮอล์อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการออกมาบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า การทำตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำได้อยากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าดังกล่าวได้
การที่ภาครัฐออกมาเข้มงวดในพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ครั้งนี้ ความตั้งใจหลัก คือ ต้องการที่จะช่วยลดปัญหาผลกระทบทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย เนื่องจากที่ผ่านมามีคนจำนวนมากชอบโพสต์ภาพคู่กับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์แบบท้าทาย และปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะมี พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวออกมาควบคุม ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 43 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากความเข้มงวดของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 ทำให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกรายต้องออกมาปฏิบัติตามกฎกติกากันอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อ หรือการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้า ซึ่งจากความเข้มงวดดังกล่าว ประกอบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว เลยทำให้ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในภาวะซบเซาเช่นเดียวกับปีนี้
ผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างออกมาขอความเห็นใจภาครัฐผ่านสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ว่าภาครัฐควรรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และปรับปรุงกฎหมายให้มีความเป็นสากล แก้ไขปัญหาการตีความที่คลุมเครือ ส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม และส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของแอลกอฮอล์กับประชาชนมากกว่าที่จะมาควบคุมการทำการตลาด
นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA กล่าวว่า พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ยังมีบางประเด็นที่ภาครัฐและเอกชนควรหารือร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย ที่ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมเรื่อยมาว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ในฐานะตัวแทนผู้ผลิตที่มีพันธกิจส่งเสริมการทำการตลาดและสื่อสารเกี่ยวกับธุรกิจแอลกอฮอล์อย่างมีจรรยาบรรณ และรับผิดชอบต่อสังคม มุ่งหวังที่จะร่วมมือกับภาครัฐและภาคประชาชนในการบังคับใช้ตัวบทกฎหมายอย่างเป็นธรรมและตอบโจทย์ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการดื่มอย่างเป็นอันตราย หรือ Harmful Use of Alcohol ในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน อีกทั้งส่งเสริมลดอัตราการดื่มที่เป็นอันตรายทั่วโลก ร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2568 ตามกรอบขององค์การอนามัยโลก (WHO)
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ยังมีความคลุมเครือในบางประเด็น และพึ่งพิงการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานมากเกินไป จึงขาดแนวทางในการปฏิบัติที่แน่นอน ทั้งยังเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ที่อาจสร้างแรงจูงใจทางอ้อมให้เกิดการตีความอย่างไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากเงินสินบนรางวัล ในขณะเดียวกันภาคประชาชนได้ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวมีเนื้อหารสาระที่ดี แต่ขาดความชัดเจนในการปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สร้างความสับสนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ และส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อภาคธุรกิจและท่องเที่ยว
นอกจากนี้ หากมองดูแนวโน้มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญแม้ว่าจะมีกฎหมายออกมาควบคุมการดื่ม จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีพฤติกรรมและธรรมเนียมการดื่มและเฉลิมฉลอง โดยอยู่ในอัตราที่เหมาะสม ไม่ได้มากจนเกินไป
นายธนากร กล่าวว่า จากผลสำรวจขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปีทั่วโลก ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 72 ต่างจากความเชื่อที่ว่าประเทศไทยบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก และจากผลสำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังพบว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วราชอาณาจักร มีสาเหตุหลักจากการขาดวินัยจราจร ในขณะที่การเมาสุราเป็นสาเหตุลำดับที่ 7 สะท้อนให้เห็นว่าแอลกอฮอล์ไม่ใช่ปัญหาหลักทางสังคม โดยเฉพาะเมาแล้วขับ และการใช้ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนในภาพรวมได้
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาครัฐจึงควรรับฟังความคิดเห็นของภาคธุรกิจและประชาชน เพื่อสร้างมาตรฐานและความเข้าใจร่วมกัน และส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกในการลดจำนวนการดื่มอย่างเป็นอันตรายที่ 10% โดยประมาณ ภายในปี พ.ศ. 2568 และเพื่อให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวสอดคล้องกับหลักสากล เหมาะสมกับสถานการณ์และมีความชัดเจนสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยจึงออกมาขอความเห็นใจภาครัฐปรับปรุง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว2551 ให้มีความชัดเจนและมีความทันสมัยมากขึ้น
ข่าวเด่น