การลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นนโยบายหลักประการหนึ่งของรัฐบาลที่มุ่งมั่นให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องยอมรับว่าการออกนโยบายต่างๆตั้งแต่ที่เข้ามาบริหารประเทศ ก็เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง
ล่าสุดธนาคารโลก นายชูเดีย แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ธนาคารโลก และ นางสาวแคทเธอลีนา เลเดอร์ชิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก เปิดเผยถึงรายงานแนวโน้มการเติบโตแบบมีส่วนร่วมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในระยะยาว ชื่อ Riding the Wave: An East Asian Miracle for the 21st Century โดยในรายงานระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเป็นผู้นำที่แสดงวิธีให้เห็นว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วและการมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจจะช่วยลดความยากจนอย่างชัดเจนได้ ซึ่งช่วยให้คนเกือบล้านคนได้หลุดพ้นจากความยากจน พร้อมกล่าวถึงโมเดลใหม่ในการสร้างการเจริญเติบโตในภูมิภาคอย่างยั่งยืน พร้อมกับลดปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ให้มีความเสมอภาคมากขึ้น
และในรายงานระบุว่าประเทศไทยซึ่งอยู่กลุ่มเดียวกับมาเลเซีย ได้เริ่มหลุดพ้นจากความยากจน และ กำลังก้าวสู่ความมั่งคั่งแล้ว พร้อมเสนอ 3 แนวทางที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ คือ ให้โอกาสด้านเศรษฐกิจกับผู้มีรายได้น้อย มีระบบการดูแลด้านสังคม สาธารณสุข ประกันสังคม และการส่งเสริมการออม รวมทั้ง การใช้เครื่องมือ เช่นภาษี เครื่องมือทางการเงิน มาช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. กล่าวว่า รายงานธนาคารโลกฉบับนี้ เสนอโมเดลใหม่ในการแก้ปัญหาความยากจนด้วยการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำ โดยสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลซึ่งบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ซึ่งเน้นการเติบโตอย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำ
โดยรัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งตลอด 20 ปี ลดความยากจนได้ต่อเนื่อง จำนวนประชากรที่อยู่ใกล้เส้นความยากจน 11 ล้านคน ลดลงมาต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จนเหลือจำนวน 7 ล้านคน แต่ยังมีประชากรฐานราก ระดับล่าง ประมาณ 29 ล้านคน หรือ ประมาณร้อยละ 40 ของประชากร ต้องได้รับการดูแลด้วยการเพิ่มรายได้ ซึ่งประกอบด้วยเกษตรกร แรงงาน เอสเอ็มอี ซึ่งรัฐบาลจะใช้แผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 12 กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค มาเพิ่มรายได้ และเพิ่มการจ้างงาน ขณะเดียวกันเพิ่มหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน คู่ขนานกับการสนับสนุนให้ประชาชนออมเงินผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ และ กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ รองรับผู้สูงอายุ
ข่าวเด่น