ในที่สุดสถานการณ์รัฐบาลไทยภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสายตาของต่างประเทศ ก็เริ่มได้รับความยอมรับมากขึ้น โดยล่าสุดในเฟซบุ๊กของคณะผู้แทนสหภาพยุโรป(อียู) ประจำประเทศไทย ระบุว่า คณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปได้มีการตกลงที่จะปรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองกับประเทศไทย รวมถึงด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และแผนการดำเนินงานสู่ประชาธิปไตย โดยคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป ยังคงยืนยันถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างอียูและไทย อีกทั้งเล็งเห็นถึงคุณค่าของบทบาทที่ไทยมีในฐานะประเทศผู้ประสานการเจรจาและสนับสนุนการขยายความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศอียู-อาเซียนในปัจจุบัน
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีต่างประเทศอียูยังเรียกร้องให้ประเทศไทย มีการคืนสู่กระบวนการทางด้านประชาธิปไตยเร่งที่สุด ผ่านการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ต้องความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อีกทั้งต้องฟื้นฟูสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ขณะที่ไทยดำเนินการไปสู่ประชาธิปไตย โดยอียูจะยังสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อไป
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีต่างประเทศอียูส่งเสริมให้ผู้มีอำนาจของไทยดำเนินการตามข้อเสนอแนะที่ไทยให้คำมั่นระหว่างการทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไกรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ (ยูพีอาร์) ครั้งที่ 2 ของไทย เมื่อเดือน พ.ค.2559
อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีต่างประเทศอียูสังเกตว่าการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ระบุว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นภายใน 150 วัน หลังจากมีการประกาศใช้กฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็น 4 ฉบับ นอกจากนี้ยังสังเกตว่าการเตรียมความพร้อมในทางนิติบัญญัติเพื่อจัดการเลือกตั้งกำลังมีความคืบหน้า ซึ่งคณะรัฐมนตรีต่างประเทศอียูยอมรับแถลงการณ์ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2560 ที่ว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในเดือนพ.ย.2561 คณะรัฐมนตรีต่างประเทศอียูขอเรียกร้องให้ประกาศใช้กฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่เร็วที่สุดและให้เคารพกำหนดการจัดการเลือกตั้งตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจของไทยไม่ดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร
ซึ่งรวมถึงความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 12 ก.ย.2559 ทั้งนี้เมื่อเราพิจารณาจากความคืบหน้าที่กล่าวไปข้างต้น จึงเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะเริ่มกลับมาปรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองในทุกระดับกับไทย เพื่ออำนวยความสะดวกการเจรจาในประเด็นที่มีความสำคัญร่วมกัน
โดยขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปสำรวจความเป็นไปได้ในการกลับมาเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ระหว่างยุโรป-ไทย และการลงนามในกรอบข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ เพื่อจะสามารถดำเนินการได้กับรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการเลือกตั้ง รวมถึงขอให้ผู้แทนระดับสูงของอียูและคณะกรรมาธิการยุโรป ร่วมกันติดตามสังเกตการณ์และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีต่างประเทศอียูทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าที่เกิดขึ้น
ข่าวเด่น