หลังจากเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560 Foreign Affairs Council แห่งสหภาพยุโรป (European Union : EU) ออกแถลงการณ์ปรับความสัมพันธ์ทางการเมืองกับประเทศไทยให้มีสถานะดีขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การกลับมาเริ่มต้นเจรจาข้อตกลงระหว่าง EU กับไทยที่ชะลอออกไปเมื่อหลายปีก่อน โดยเฉพาะความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-EU (Free Trade Agreement : FTA) ความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือไทย-EU (Partnership and Cooperation Agreement : PCA)
ที่ผ่านมาการลดระดับความสัมพันธ์ของ EU มิได้มีผลกระทบกับไทยชัดเจนนัก โดยเฉพาะการส่งออก เนื่องจากการตัดสัมพันธ์ของ EU ไม่ได้ขยายไปถึงการตัดสัมพันธ์ทางการค้า แม้อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมบ้างจากการที่ไทยไม่สามารถเจรจา FTA กับ EU เพื่อทดแทนการตัดสิทธิ์ GSP ของ EU ที่ให้กับสินค้าไทยตั้งแต่ปี 2558 อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ปรับระดับความสัมพันธ์ดังกล่าวของ EU จะเป็นโอกาสที่ดีแก่ประเทศไทย เมื่อประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจ EU ที่กลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน ล่าสุด IMF คาดว่าเศรษฐกิจ EU ปี 2560-2564 จะขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ย 2% ต่อปี สูงขึ้นจาก 1.2% ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2559) สถานการณ์ดังกล่าวจึงนับเป็นโอกาสดีต่อธุรกิจไทยที่มีความสัมพันธ์กับ EU ในหลายมิติ ทั้งด้านการส่งออก การลงทุน และ การท่องเที่ยว โดยเฉพาะการส่งออกที่จะได้อานิสงส์ทั้งจากบรรยากาศการค้าที่สดใสและกำลังซื้อของ EU ที่ฟื้นตัว รวมถึงความเชื่อมั่นของ EU ต่อประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างกัน อีกทั้งคาดว่าจะทำให้การเจรจาแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) คลี่คลายได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ หากไทยสามารถเจรจา FTA กับ EU ได้ในอนาคต ก็จะส่งผลดีต่อภาคส่งออกไทยในระยะถัดไป
ภายใต้แบบจำลองของ EXIM BANK คาดว่าการส่งออกไทยไป EU ปี 2561 จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5% ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังเช่นปัจจุบัน แต่หากมีปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ อาทิ เศรษฐกิจ EU ขยายตัวสูงกว่า 2% รวมถึงกรณี BREXIT มีผลกระทบไม่มาก โดย EU และอังกฤษยังสามารถทำการค้าเสรีได้เช่นเดิม ตลอดจนการเจรจา FTA ไทย-EU มีความคืบหน้าอย่างชัดเจน ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นต่อการค้าการลงทุนไทย-EU โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าส่งออกที่เคยได้รับผลดีจาก GSP และกลุ่มที่มีการแข่งขันด้านราคาสูง อาทิ ผลไม้แช่แข็ง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง อาจช่วยให้การส่งออกไทยไป EU ขยายตัว อย่างมากแตะระดับ 10% หรือคิดเป็นมูลค่า 26,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2554 ที่ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เอื้อให้การค้าไทย-EU เติบโตได้เป็นอย่างดี
การส่งออกไทยไป EU
|
เฉลี่ยปี 2558-2560
|
คาดการณ์ ปี 2561
|
มูลค่าส่งออก (ล้าน USD)
|
อัตรา
ขยายตัว (%)
|
Base Case
|
Best Case
|
มูลค่าส่งออก (ล้าน USD)
|
อัตรา
ขยายตัว (%)
|
มูลค่าส่งออก
ที่เพิ่มขึ้น
(ล้าน USD)
|
มูลค่าส่งออก (ล้าน USD)
|
อัตรา
ขยายตัว (%)
|
มูลค่าส่งออกที่เพิ่มขึ้น
(ล้าน USD)
|
มูลค่าส่งออกไทยไป EU
|
22,637
|
1%
|
25,000
|
5%
|
2,363
|
26,300
|
10%
|
3,663
|
หมายเหตุ : ปี 2560 เป็นตัวเลขคาดการณ์
ที่มา : รวบรวมและคาดการณ์โดยฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
EU นับเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศของไทย ทั้งด้านการส่งออก การลงทุน และ
การท่องเที่ยว แนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างไทย-EU ที่แน่นแฟ้นขึ้นจึงเป็นสัญญาณที่ดีต่อธุรกิจไทย เมื่อผนวกกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ตลอดจนแรงผลักดันจากความร้อนแรงของตลาดใหม่ รวมถึงการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2561 และในระยะถัดไปให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ถือเป็นข่าวดีและของขวัญต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง
ข่าวเด่น