การค้า-อุตสาหกรรม
'พาณิชย์' เดินสายให้ความรู้ 'กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ'


 “พาณิชย์” เร่งเดินสายให้ความรู้ “กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ” ทั่วประเทศ ล่าสุด...ลงพื้นที่ภาคอิสานดึง “เอสเอ็มอี” ในภูมิภาคศึกษารายละเอียด พร้อมใช้ประโยชน์จากกฎหมายฯ ฉบับนี้อย่างเต็มที่เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากภาคการเงินการลงทุนในส่วนภูมิภาคให้มีความเข้มแข็ง ขณะเดียวกันได้พัฒนาระบบการจดแจ้งสัญญาหลักประกันทางธุรกิจเป็นแบบเรียลไทม์ (Real Time)สามารถตรวจเช็คข้อมูลหลักประกันทางธุรกิจได้ทันที เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและระบบเศรษฐกิจมากที่สุด นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถนำหลักทรัพย์อื่นที่ใช้ในการประกอบธุรกิจไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้

 

 

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งเดินสายสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจแก่ผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศ ประกอบด้วย ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี (ผู้ให้หลักประกัน) สถาบันการเงิน (ผู้รับหลักประกัน) ผู้ประสงค์จะเป็นผู้บังคับหลักประกัน นักวิชาการ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ทราบถึงมิติใหม่แวดวงธุรกิจและภาคการเงินของไทยที่ผู้ประกอบการสามารถนำหลักทรัพย์อื่นที่ใช้ในการประกอบธุรกิจไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ ล่าสุดได้ลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น) ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจถึงรายละเอียดของกฎหมายฯ พร้อมให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ใช้ประโยชน์จากกฎหมายฯ ฉบับนี้อย่างเต็มที่เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กรมฯ มีแผนที่จะเดินทางสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากที่สุด”

“กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ” เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจ (โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าอื่นที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น ได้แก่ 1) กิจการ 2) สิทธิเรียกร้อง 3) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบที่ผลิตสินค้า 4) อสังหาริมทรัพย์ในกรณีผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง และ 5) ทรัพย์สินทางปัญญา”

“รวมทั้งกฎหมายยังกำหนดให้มีระบบการบังคับหลักประกันที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม เป็นการลดภาระทางศาลและการบังคับคดีโดยเจ้าพนักงาน นอกจากนี้ ยังเป็นการลดปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม อีกทั้งกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ยังเป็นปัจจัยสำคัญ ในการจัดลำดับความยากง่ายในการเริ่มต้นธุรกิจ (Ease of Doing Business) ตามตัวชี้วัดของธนาคารโลก ซึ่งกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ช่วยให้ตัวชี้วัดด้านการได้รับสินเชื่อมีอันดับที่ดีขึ้น จากอันดับที่ 82 ในปี 2017 เป็นอันดับที่ 42 ในปี 2018 ส่งผลให้อันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจไทยในภาพรวม มีอันดับที่ดีขึ้นจากอันดับที่ 46 ในปี 2017 เป็นอันดับที่ 26 ปี 2018 ด้วยเช่นกัน”

อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังสร้าง “วิชาชีพใหม่” คือ ผู้บังคับหลักประกัน” ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่บังคับหลักประกัน หากมีการผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีที่นำทรัพย์สินประเภทกิจการมาเป็นหลักประกัน โดยผู้บังคับหลักประกันต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งในเรื่อง กฎหมาย  บัญชี เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ ประเมินราคาทรัพย์สิน และต้องผ่านการอบรมหัวข้อ กฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ และจรรยาบรรณผู้บังคับหลักประกัน รวม 2วิชา จำนวน 12 ชั่วโมง และต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งขณะนี้มีผู้ได้รับใบอนุญาตแล้ว จำนวน 400 ราย”

 “ขณะเดียวกัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความทันสมัย มาใช้ในการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ การตรวจค้นข้อมูล การขึ้นทะเบียนเป็นผู้บังคับหลักประกัน และด้านอื่นๆ 
ที่เกี่ยวข้อง
 ในลักษณะเรียลไทม์ (Real Time) โดยผู้ให้หลักประกัน และผู้รับหลักประกัน สามารถตรวจเช็คข้อมูลของหลักประกันทางธุรกิจได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและระบบเศรษฐกิจมากที่สุด และเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจให้ได้รับอนุมัติสินเชื่อรวดเร็วขึ้น”

 ทั้งนี้ นับตั้งแต่พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน (วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560) มีผู้ใช้บริการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวนทั้งสิ้น 172,916 คำขอ รวมมูลค่าทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน จำนวน 3,642,760 ล้านบาท โดยประเภททรัพย์สินที่นำมาจดทะเบียนมากที่สุด คือ สิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคาร คิดเป็นร้อยละ  56.20 (มูลค่า 2,047,277 ล้านบาท) รองลงมา คือ สิทธิเรียกร้องประเภทลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สิทธิการเช่า คิดเป็นร้อยละ 21.24  (มูลค่า 773,584 ล้านบาท) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบินคิดเป็นร้อยละ 22.51 (มูลค่า 819,924 ล้านบาท) และทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็นร้อยละ 0.05 (มูลค่า 1,975  ล้านบาท)” 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ธ.ค. 2560 เวลา : 23:57:40
18-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 18, 2024, 3:51 pm