จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาให้ความสนใจซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกต้องปรับตัว เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว จะเห็นได้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการค้าปลีกไทย เริ่มมีการขยายช่องทางการขายสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่นของตัวเอง หรือการจับมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านของการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซให้เข้ามาช่วยขายสินค้าในช่องทางออนไลน์
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการเติบโตของผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลก ส่งผลให้การช้อปปิ้งออนไลน์แทรกซึมในวิถีชีวิตประจำวันคนรุ่นใหม่ พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยน ทำให้จำนวนนักช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าลดน้อยลง
แต่สิ่งที่น่าจับตาในอนาคต คือ โมเดลธุรกิจใหม่ที่เรียกกันว่า E Business (รูปธรรมของ E Business ที่เรารู้จักกันดีก็คือ O2O หรือ Omni Channel) ซึ่งเป็นการเชื่อมห้างร้านในโลกออฟไลน์เข้ากับเทคโนโลยีโลกออนไลน์อย่างลงตัว ด้านหนึ่งก็สามารถใช้ประโยชน์จากความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและชำระเงินออนไลน์ รวมทั้งสามารถเก็บข้อมูลผู้บริโภคมหาศาล ส่วนอีกด้านหนึ่ง ก็สามารถใช้จุดแข็งของห้างร้านที่มีสินค้าจริงให้คนได้สัมผัสและทดลอง รวมทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับเดินเล่นหรือนัดพบสังสรรค์กับเพื่อนได้ด้วย
น.ส.จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ในอีก 5 ปี ข้างหน้า คนไทยจะใช้เงินสดกันน้อยลงและหันมาใช้จ่ายผ่านบัตรและช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น ประกอบกับโครงการ Expansion of Card and Card Acceptance ภายใต้นโยบาย National e-Payment ที่บังคับให้ทุกร้านค้าที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ต้องมีเครื่อง EDC เพื่อเพิ่มอัตราการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งเหล่านี้ทำให้ร้านค้าต่างๆ ต้องปรับตัวสู่การค้าขายในอนาคต เพื่อให้พร้อมรองรับการจ่ายในทุกรูปแบบ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้เกิดรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความก้าวหน้าเป็นไปมาตรฐานสากล จะเห็นได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีการขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เนื่องจากช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีความสะดวกรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน ในฝั่งของผู้ประกอบการสถาบันทางการเงินเองก็สามารถลดต้นทุนในกระบวนการทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากกระบวนการในการทำธุรกรรมสะดวก รวดเร็ว สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทั้งหมดนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในประเทศที่จะพัฒนาการค้าในธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เนื่องจากสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา ได้รับความสะดวกสบายและมีปความลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย
น.ส.จริยา กล่าวต่อว่า ทิศทางการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีก กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากเดิมที่เน้นการทำแบบ แมส มาร์เก็ตติ้ง (Mass Marketting) หันมาโฟกัสเป็นเฉพาะกลุ่มลูกค้าตัวจริงของตัวเอง หรือเป็นการทำตลาดแบบ ตัวต่อตัว (one by one) ซึ่งแต่ละผู้ประกอบการจะต้องนำเสนอแคมเปญและโปรโมชั่นให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะคน แต่ปัจจัยที่จะทำให้การตลาดรูปแบบนี้ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญที่สุดคือระบบไอทีหลังบ้าน ที่จะต้องมีความแข็งแกร่ง ต้องรองรับการเก็บข้อมูลมหาศาล และต้องนำออกมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย ซึ่งการลงทุนระบบ "บิ๊กดาต้า" (Big Data) และระบบ "คลาวด์ คอมพิวติ้ง" (cloud Computing) ถือเป็นการลงทุนที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูงมาก
อย่างไรก็ดี Big Data ยังคงเป็นเทรนด์สำคัญของธุรกิจค้าปลีก เพราะข้อมูลการใช้จ่ายของลูกค้าแต่ละครั้งจะนำไปสู่การประมวลผลเพื่อหาไลฟ์สไตล์ ความชอบของลูกค้า และเมื่อสามารถวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าได้แม่นยำ ก็สามารถจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับเป็นโปรโมชั่นให้ตรงใจกับลูกค้าได้มากขึ้น Big Data เป็นเสาที่สี่ ของ E Business ซึ่งการได้มาของ Big Data ก็ต้องผ่านกระบวนการรวบรวมข้อมูลจาก สามเสาหลักแรกคือ E Commerce, E finance, E Logistics จาก Big Data ก็จะนำไปสู่การได้มาซึ่งปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence หรือที่รู้จักกันในนาม AI
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว หากได้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนอีกแรงน่าจะกระตุ้นให้ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกขยายตัวได้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในส่วนของปีนี้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยคาดการณ์ว่า ดัชนีค้าปลีกไทยในปี 2560 นี้ น่าจะขยายตัวได้ที่ประมาณ 3.2-3.4% และในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มเป็น 3.8-4.0% ตามการเติบโตของ GDP ประเทศ และในปี 2562 น่าจะขยายตัวเติบโตเพิ่มเป็น 4.5 % เนื่องจากประเทศไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังปี 2559 ประเทศไทยต้องประสบกับความสูญเสียและโศกเศร้าครั้งยิ่งใหญ่ไปจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ชะลอการจับจ่าย จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายนปี 2560 เป็นต้นมา พบว่าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของกำลังซื้อที่มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอารมณ์การจับจ่ายเริ่มฟื้นตัวและมาตรการของรัฐบาลในการผลักดันงบประมาณลงสู่เศรษฐกิจฐานรากเริ่มสัมฤทธิผล ประกอบกับการเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลจับจ่ายปลายปี ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 อุตสาหกรรมภาคค้าปลีกเริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 แม้ว่ามาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ปีนี้จะดำเนินการในเดือน พ.ย. ซึ่งยังไม่ตรงกับเทศกาลจับจ่ายใช้สอย
แต่โครงการนี้ก็สามารถช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อปานกลางถึงสูง ได้ออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษีจากมาตรการดังกล่าว ซึ่งปีนี้มีระยะเวลาในการจัดมากถึง 23 วัน
ข่าวเด่น