ในที่สุดหลังจากที่สหรัฐได้ขึ้นบัญชีให้ไทย เป็นประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ(PWL) เป็นเวลานานถึง 10 ปี และในปี2560 สหรัฐฯก็ได้ปรับลดอันดับไทยมาอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง(PW)
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีสหรัฐได้ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (ไอพี) ของไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) ว่า เป้าหมายต่อจากนี้ในการดำเนินงานด้านคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย มุ่งมั่นปรับสถานภาพของไทยให้หลุดจาก WL ในอนาคต หรืออยู่ในสถานภาพเดิมให้มั่นคงที่สุด ซึ่งหากหลุดจากสถานะนี้ได้ก็จะพ้นจากบัญชีจับตามองด้านไอพีของสหรัฐ โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่ถึง 10 ปีจากนี้ เพราะไทยมีความพยายามตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ทำให้หลุดจาก PWL เมื่อหากหลุดพ้น WL ได้ จะทำให้ไทยยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสอดรับกับมาตรฐานโลกได้ดียิ่งขึ้น โดยปัจจุบันเรื่อง IP ไทยอยู่ระดับเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สวิตเซอร์แลนด์ และแคนาดา
ส่วนการดำเนินงานจากนี้ ประกอบด้วย 1.ป้องปรามและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง ผ่านคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงรณรงค์ให้ผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
2.ปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดความทันสมัย สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลิขสิทธิ์ ป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ 3.พัฒนาการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งเป้าหมายภายในปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 คำขอและการอนุญาตจดทรัพย์สินทางปัญญาจะเกิดความสมดุลกัน จากปัจจุบันสามารถอนุมัติได้ 4,000 คำขอต่อปี และมีคำขอเข้ามา 8,000 คำขอต่อปี ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างทำแผนปฏิรูปของกรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า เมื่อไทยมาอยู่ระดับ WL ส่งผลดีหลายด้าน ได้แก่ 1.เกิดผลดีต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุนของประเทศในสายตาของผู้ค้าและผู้ลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีคาดมีการลงทุนมากขึ้น 2.นับเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะการคุ้มครองและปราบปรามทรัพย์สินทางปัญญา ส่งผลโดยตรงต่อการผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น อุตสาหกรรมคอนเทนต์ เช่น ภาพยนตร์ เกม เพลง หากได้รับการคุ้มครองจะมีทิศทางโตได้อีกมาก จากปัจจุบันโตเฉลี่ยปีละ 2.3 เท่า ซึ่งปี 2558 มีการบริโภคในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ถึง 5.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปี 2554 อยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท
3.จะส่งผลให้ต่างชาติที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ (นิว เอสเคิร์ฟ) 10 อุตสาหกรรม ซึ่ งมีทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวข้องอย่างมาก เช่น ยานยนต์ ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่ารวม 116,274 ล้านบาทใน 9 เดือนแรกปี 2560 ซึ่งเชื่อมั่นว่าคำขอจำนวนนี้ จะตัดสินใจลงทุนจริงเร็วขึ้น
และ 4.การปรับสถานะสู่ WL เป็นปัจจัยสำคัญที่สหรัฐพิจารณาในการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทย ซึ่งมีผลดีต่อสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐอย่างต่อเนื่อง ที่ได้รับสิทธิจีเอสพีอยู่แล้ว เช่น สินค้ากลุ่มเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่ม ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง และส่วนประกอบยานยนต์
โดย 9 เดือนแรกปี 2560 ไทยได้รับสิทธิการส่งออกสินค้าภายใต้จีเอสพีไปสหรัฐ 4,245 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีการใช้สิทธิจีเอสพีที่ 3,098 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนใช้สิทธิ 72.98%
ข่าวเด่น