ประกัน
ไทยประกันชีวิตความมั่นคงปึ้ก ฟิทช์ เรทติ้งส์ จัดอันดับความแข็งแกร่งที่ระดับ AAA(tha) ถือเป็นอันดับเครดิตสูงสุดของไทย


นางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) สถาบันจัดอันดับเครดิตทางการเงินระดับโลก ได้ประเมินและจัดอันดับเครดิตทางการเงินของบริษัทฯ ให้มีระดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (Insurer Financial Strength (IFS)) ที่ระดับ BBB+ และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National Insurer Financial Strength)  ที่ระดับ AAA(tha) โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งถือเป็นอันดับเครดิตทางการเงินสูงที่สุดของไทย

 

 

 

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า ไทยประกันชีวิตมีการบริหารจัดการเงินกองทุนอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ตามแบบประมาณการของ Prism Factor Based Capital Model (Prism FBM) ซึ่งเป็นแบบจำลองที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ใช้ประเมินระดับความแข็งแกร่งด้านเงินกองทุน โดยมีสัดส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Risk-Based Capital : RBC) อยู่ที่ 314% ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้ที่ 140% 

ฟิทช์เชื่อว่า ช่องทางการขายของไทยประกันชีวิตจะแข็งแรงขึ้น ทั้งช่องทางตัวแทนขายที่มีขนาดใหญ่และมีความสามารถที่สูงขึ้น รวมทั้งการเติบโตจากช่องทางการขายผ่านเครือข่ายธนาคาร  (Bancassurance)  และช่องทางการขายอื่นที่ไม่ใช่ช่องทางตัวแทน (Non-Agency) ไทยประกันชีวิตจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเบี้ยประกันภัยรับรวมที่ 13% ครึ่งปีแรกของปี 2560 ประกอบกับบริษัทฯ ได้รับ

การสนับสนุนทางด้านเทคนิคและการดําเนินงานจากผู้ถือหุ้น คือ บริษัท เมจิ ยาซึดะ ไลฟ์อินชัวรันส์ จำกัด

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นการบริหารทรัพย์สินอย่างรอบคอบ โดยเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและให้ผลตอบแทนคุ้มค่า สัดส่วนการลงทุน สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2560 การลงทุนส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ สัดส่วนประมาณ 85% ของพอร์ตเงินลงทุนรวม การลงทุนในตราสารทุนเพิ่มขึ้นเป็น 11% ของพอร์ตเงินลงทุนรวม เพื่อชดเชยผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลงในภาวะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ 

ฟิทช์ เรทติ้งส์ประเมินว่า ไทยประกันชีวิตดําเนินนโยบายการบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset-Liability Management) ที่เหมาะสม สะท้อนได้จากความแตกต่างด้านระยะเวลาระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ความสามารถในการทํากําไรของบริษัทฯ ยังทรงตัว โดยอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ยและอัตราส่วนกําไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เฉลี่ยสามปี (2558 – 2560) เท่ากับ 13.1% และ 2.3% ประเภทผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย และเบี้ยประกันรับเพิ่มเติมจากช่องทางการขายอื่นที่ไม่ใช่ช่องทางตัวแทน จะช่วยเพิ่มความสามารถในการทํากําไรของบริษัทฯ ในระยะยาวได้


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ธ.ค. 2560 เวลา : 15:00:12
19-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 19, 2025, 5:05 am