การตลาด
สกู๊ป ร้านอาหารญี่ปุ่นแข่งดุ 'เซ็น' รุก 'เดลิเวอรี่ ควบ 'เคเทอริ่ง'


ยังคงแข่งขันกันอย่างรุนแรงสำหรับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น   ส่งผลให้ปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 22,000 ล้านบาท จากช่องว่างทางการตลาดที่ยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก  ทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายให้ความสนใจเข้ามาทำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น  แม้ว่าในปีนี้ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นอาจจะชะลอตัวไปบ้างตามปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ  ส่งผลให้ผู้บริโภคออกมาระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย

 

 

จากการแข่งขันที่รุนแรงดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นต้องออกมาปรับกลยุทธ์การทำตลาด  เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายได้ง่ายขึ้น  หนึ่งในผู้ประกอบการที่ออกมาปรับกลยุทธ์การทำตลาด  เพื่อให้สอดคล้องกับผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คือ ร้านอาหารเซ็น  (ZEN)

นายธันยเชษฐ์  เอกเวชวิท  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจแบรนด์ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า  จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป  เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนของเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ ส่งผลให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ ร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็น  เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค  ด้วยการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด “Quality and Beyond” มุ่งเน้นให้ลูกค้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด เพื่อยกระดับคุณภาพในการเสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร การบริการ บรรยากาศร้าน รวมทั้งการสื่อสารทางดิจิตอลในด้านอาหาร

นอกจากนี้  ยังได้มีการคิดค้นเมนูใหม่ๆ ที่ผสมผสานรสชาติจัดจ้านแบบไทยและความกลมกล่อมแบบญี่ปุ่นไว้ได้อย่างลงตัว นำเสนอในเมนูเล่มใหม่   ส่วนด้านบริการ ก็มีการสร้างแอพพลิเคชั่น GES (Guest Experience System) เพื่อตอบสนองความคิดเห็นของลูกค้า ซึ่งเปรียบเสมือนแขกของบ้าน 

ด้านนายชิตพล  วัฒนาเกษม  ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น เรสเตอรองท์ โฮลดิ้ง  กล่าวว่า  แนวทางการดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็น  นับจากนี้   บริษัทจะนำเสนอคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค ทั้งด้านการให้บริการ คุณภาพของวัตถุดิบและกระบวนการผลิต   ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ร้านอาหารเซ็น  ยึดมั่นเสมอมา เพราะบริษัทเอาใจใส่ในทุกความต้องการของลูกค้าประหนึ่งครอบครัวเดียวกัน

พร้อมกันนี้  ร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็น  ยังตอกย้ำความแข็งแกร่งในด้านของการบริการ  ด้วยการให้ความสำคัญกับเครือข่ายการจัดส่งอาหาร (Food Delivery) รวมทั้งบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่   ด้วยการเผยโฉมแอพพลิเคชั่นสำหรับโทรศัพท์มือถือ พร้อมให้บริการครบวงจรสำหรับการจัดส่งอาหารถึงบ้าน  และนำเสนอข้อมูลข่าวสาร  รวมไปถึงโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็นได้ง่ายขึ้น

 

 

แนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าวถือเป็นการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด  เนื่องจากปัจจุบันการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นมีความรุนแรง  หากไม่มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน  ซึ่งให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเป็นหลัก  อาจทำให้เสียเปรียบคู่แข่งในตลาดได้

นอกจากจะให้ความสำคัญในด้านของบริการ  และเมนูอาหารใหม่ๆ แล้ว  ร้านอาหารเซ็น  ยังมีแผนที่จะปรับปรุงร้านโฉมใหม่ให้มีความสวยงามมีบรรยากาศที่มีชีวิตชีวา สว่างสดใสในสไตล์ญี่ปุ่น  และเป็นกันเองมากขึ้น  ด้วยรูปปั้นลอยตัวที่เป็นรูปปลา เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมนูปลา และทำให้บรรยากาศร้านมีมิติเคลื่อนไหว  

 

นอกจากนี้  ยังทำซูชิบาร์ให้เด่นมากขึ้น ซึ่งลูกค้าสามารถเดินมาชมเชฟทำซูชิหรือแล่ปลาได้ อีกทั้งยังฉีกภาพลักษณ์แบบเดิม ด้วยชุดยูนิฟอร์มพนักงานดีไซน์ใหม่ให้ทันสมัย แต่ยังคงความอบอุ่นในแบบของร้านอาหารเซ็น  เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด 

นายชิตพล  กล่าวอีกว่า  บริษัทต้องปรับตัวต่อเนื่องเพื่อตามผู้บริโภคให้ทัน  โดยขณะนี้ได้ทยอยปรับร้านอาหารเซ็นสาขาเก่าไปแล้วที่สาขาเซ็นทรัล พระราม 2  สาขาพระราม 3  และล่าสุดกำลังทำการปรับปรุงที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์  ภายใต้รูปแบบใหม่ที่เน้นให้มีความทันสมัย และสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จากเดิมจะมีความเป็นพรีเมียม และส่วนตัว ทำให้ลูกค้าอาจจะไม่กล้าเข้ามาใช้บริการมากนัก

 

 

จากผลการตอบรับที่ดีขึ้นหลังจากปรับปรุงร้านให้มีความสวยงามในภาพลักษณ์  ส่งผลให้ปี  2561  ร้านอาหารเซ็น มีแผนที่จะปรับปรุงสาขาเก่าทั้งหมด 5 สาขา พร้อมกันนี้  ยังได้ปรับและเพิ่มเมนูใหม่ที่เน้นรสชาติไทยๆ อีก 10% หรือประมาณ 80 เมนู ตลอดจนเพิ่มเมนูใหม่ที่จะมาช่วยสร้างประสบการณ์ในการรับประทานแบบใหม่ๆ อย่าง ชุดมากิ ดีไอวาย, ชุดดับเบิ้ลแซลมอน และไก่เบคอนเสียบไม้ เป็นต้น

นอกจากนี้  ในส่วนของราคาอาหารก็ยังได้มีการปรับลดลงประมาณ  2-3%  เพื่อเพิ่มความถี่ให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น จากเดิมความถี่ลูกค้าที่เข้ามาเฉลี่ยที่ 6 สัปดาห์ต่อครั้ง   พร้อมกับเดินหน้าขยายช่องทางขายผ่านออนไลน์ดิลิเวอรี่  ของแอพพลิเคชันเซ็น   เพื่อให้ลูกค้ามีความสะดวกในการสั่งซื้ออาหารของร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็น  จากเดิมมีช่องทางขายผ่านไลน์แมน และฟู้ดแพนด้าอยู่แล้ว  

 

หลังจากเดินหน้าขยายช่องทางการผ่านออนไลน์และทำการตลาดมากขึ้นภายใต้งบ 100 ล้านบาท  ควบคู่ไปกับการลงทุนเปิดร้านใหม่และปรับปรุงร้านเก่าภายใต้งบลงทุน 450 ล้านบาท   ร้านอาหารเซ็น  มั่นใจว่าสิ้นปี 2561 น่าจะผลักดันยอดขายในช่องทางดิลิเวอรี่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า   50-60%  หรือสัดส่วนการขายเป็น 4-5%   จากปัจจุบันมีสัดส่วนการขายผ่านช่องทางออนไลน์อยู่ที่ประมาณ   2-3% ส่วนภาพรวมยอดขายในสิ้นปี 2560 นี้คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 8% 

 


LastUpdate 20/12/2560 15:36:51 โดย : Admin
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 9:26 pm