เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่อง ฝ่ายสนับสนุน Catalexit ชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นแคว้นคาตาโลเนียของสเปน


Event

ผลการนับคะแนนในคืนวันเลือกตั้งที่ 21 .. (ตามเวลาสเปน) เผยว่าพรรค Republican Left of Catalonia (ERC), Junts per Catalunya (JuntsXCat) และ Popular Unity Candidacy (CUP) ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของแคว้นคาตาโลเนียออกจากสเปน (Catalexit) มีคะแนนเสียงรวมกันอยู่ที่ 47.6% และได้ที่นั่งในสภาราว 70 ที่นั่งจากทั้งหมด 135 ที่นั่ง ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนการอยู่ร่วมกับสเปน อย่างพรรค Ciudadanos (Citizens, Cs), Socialists’ Party of Catalonia (PSC) และ People’s Party of Catalonia (PP) มีคะแนนเสียงรวมกันอยู่ที่ 49.3% แต่ได้ที่นั่งในสภาเพียง 57 ที่นั่ง ทั้งนี้ การที่พรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุน Catalexit มีที่นั่งในสภาเกินครึ่งส่งผลให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลที่ยังคงแนวคิดในการแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปนต่อไป

เมื่อวันที่ 27 .. ที่ผ่านมา Mariano Rajoy นายกรัฐมนตรีของสเปนได้ประกาศใช้มาตรา 155 ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อยึดอำนาจการปกครองตนเองจากแคว้นคาตาโลเนียสู่รัฐบาลกลาง โดยประกาศยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายหลังจากที่ Carles Puigdemont อดีตผู้นำคาตาโลเนียประกาศชัยชนะในการแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปน หลังได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการลงประชามติอย่างผิดกฎหมายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ทั้งนี้ ชาวคาตาลันส่วนหนึ่งต้องการให้แคว้นแยกตัวเป็นเอกราช เนื่องจาก ไม่พอใจที่ต้องส่งเงินภาษีสูงถึง 16% ให้รัฐบาลกลาง เพื่อนำไปช่วยภูมิภาคอื่นๆ ที่ยากจนกว่า อีกทั้งยังเป็นแคว้นที่มีอัตลักษณ์และภาษาถิ่นของตนเอง ทำให้ชาวคาตาลันจำนวนมากมองว่าตนเองเป็นประเทศที่แยกออกจากส่วนอื่นของสเปน

Analysis

ชัยชนะของฝ่ายสนับสนุน Catalexit เพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจสเปน เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลชุดใหม่จะยังผลักดันให้มีการแยกตัวเป็นเอกราชต่อไป ทั้งนี้ หาก Catalexit เกิดขึ้นจริง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสเปนอย่างมาก เนื่องจากคาตาโลเนียเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ โดยมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนราว20% ของสเปน (ขณะที่เศรษฐกิจสเปนมีสัดส่วน 7.5% ต่อเศรษฐกิจยูโรโซนทั้งหมดนอกจากนี้ หากคาตาโลเนียออกจากสเปนก็จำเป็นต้องออกจากสหภาพยุโรป (EU) ด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อคาตาโลเนียเองเช่นกัน

อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าความวุ่นวายทางการเมืองครั้งนี้จะไม่นำไปสู่ Catalexit แต่จะสร้างความยืดเยื้อและความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจ (prolonged uncertainty) 

อีไอซีมองว่ารัฐบาลสเปนจะไม่ยอมให้เกิดการแบ่งแยกแคว้นคาตาโลเนียออกจากสเปน เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ของสเปนอย่างมาก โดยรัฐบาลสเปนสามารถประกาศใช้มาตรา 155ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อยึดอำนาจการปกครองตนเองจากแคว้นคาตาโลเนียคืนสู่รัฐบาลกลางได้ทุกเมื่อ อย่างไรก็ดี ความวุ่นวายทางการเมืองจากการชุมนุมประท้วงจะสร้างความยืดเยื้อและความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจคาตาโลเนีย ทั้งในด้าน (1) ภาคการผลิตที่ต้องปิดตัวชั่วคราวจากการประท้วง (2) ภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเมืองบาเซโลนา (3) ความเสี่ยงที่สินค้าจากคาตาโลเนียจะถูกคว่ำบาตรจากสเปน

Implication

ผลกระทบจาก Catalexit จะจำกัดอยู่ในสเปนเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยูโรโซนมากนัก แม้ว่าคาตาโลเนียจะแยกตัวออกจากสเปนและสหภาพยุโรปได้จริง ก็จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจยูโรโซนโดยรวมมากนัก เนื่องจากคาตาโลเนียคิดเป็นเพียง1.5% ของเศรษฐกิจยูโรโซนเท่านั้น นอกจากนี้ ธุรกิจที่อยู่ในแคว้นคาตาโลเนียยังมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานไปอยู่ในเมืองอื่นๆ ของสเปนหากเกิดCatalexit ขึ้นจริง ดังนั้น อีไอซีจึงมองว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะไม่ถูกกระทบจาก Catalexit อย่างมีนัยสำคัญ โดยจะยังเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 2.1%ในปี 2018 จาก 2.3% ในปี 2017 ในขณะที่ค่าเงินยูโรก็มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ราว 1.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโรในปลายปี 2018 จากระดับ 1.18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโรในปัจจุบัน

ความเสี่ยงอันดับต่อไปของเศรษฐกิจยูโรโซนคือการเลือกตั้งผู้นำอิตาลีในวันที่ 4 มีนาคม 2018 ผลสำรวจ เดือนธันวาคม ชี้ว่าพรรคที่ต่อต้าน EU อย่าง 5-Star Movement (M5S) กำลังมีคะแนนนิยมนำมาเป็นอันดับ 1 ที่ 27.5% ขณะที่พรรค PD ของอดีตนายกรัฐมนตรี Matteo Renzi มีคะแนนเสียงลดลงอยู่ที่ 24.6%[1] ทั้งนี้ ปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังของอิตาลี โดยเฉพาะภาคธนาคาร ส่งผลให้คะแนนนิยมของพรรค M5S เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากพรรค M5S สามารถครองเสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาลได้ ย่อมมีการผลักดันให้เกิดการลงประชามติเพื่อถอนตัวออกจาก EU ในระยะต่อไป


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ธ.ค. 2560 เวลา : 15:33:19
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 7:31 am