การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure) คือ การเผยแพร่และรายงานข้อมูลผลดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาลขององค์กรหรือธุรกิจ โดยข้อมูลดังกล่าวเกิดจากการวัดและประเมินประสิทธิภาพภายในองค์กรอย่างเป็นระบบ เพื่อสะท้อนให้เห็นศักยภาพธุรกิจในระยะยาวและเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่องค์กรวางไว้
ปัจจุบันมาตรฐานสากลด้านการเปิดเผยข้อมูลและรายงานความยั่งยืนมีอยู่หลายแนวปฏิบัติ เช่น Global Reporting Initiative (GRI), International Integrated Reporting Council (IIRC), Carbon Disclosure Project (CDP) เป็นต้น แต่ที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือ GRI เนื่องจากมีตัวชี้วัดที่ช่วยให้ผู้รายงานเลือกใช้ตามความเหมาะสมของธุรกิจและความสนใจของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึง การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนสามารถทำได้หลากหลายช่องทางขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริโภคข้อมูลข่าวสารของผู้มีส่วนได้เสีย เช่น บนเว็บไซต์ของบริษัท รายงานประจำปี รายงานความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ รายงานความยั่งยืน เป็นต้น
การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนขยายตัวมากยิ่งขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากแนวโน้มการลงทุนอย่างรับผิดชอบ (Responsible Investment) ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ลงทุนมีความต้องการนำข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และโปร่งใสจึงกลายเป็นกลไกที่นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าของราคาหลักทรัพย์และดึงดูดความสนใจของผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา Corporate Knights สื่อด้านธุรกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทวีปอเมริกาและผู้ลงทุนสถาบันชั้นนำของโลกอย่าง AVIVA เผยแพร่งานวิจัยเรื่อง Measuring Sustainability Disclosure: Ranking the World’s Stock Exchanges ครั้งที่ 6 ประจำปี 2017 ซึ่งเป็นรายงานการจัดอันดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกจำนวน 55 แห่ง โดยตัวชี้วัดที่นำมาสำรวจล้วนเชื่อมโยงต้นทุนธุรกิจกับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 7 ตัวชี้วัด ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน อัตราการลาออกของพนักงาน อัตราบาดเจ็บจากการทำงาน การใช้พลังงาน การใช้น้ำ การจัดการของเสีย และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จากการจัดอันดับพบว่า บริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ในยุโรปติด 10 อันดับแรกถึง 7 แห่ง เช่น ตลาดหลักทรัพย์เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ตลาดหลักทรัพย์สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ตลาดหลักทรัพย์ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นต้น สำหรับตลาดหลักทรัพย์ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 10 ถือเป็นตลาดหลักทรัพย์เอเชียเพียงแห่งเดียวและเป็นตลาดหลักทรัพย์จาก Emerging Markets เพียง 1 ใน 2 แห่งที่ถูกจัดอันดับอยู่ในตาราง Top 10 สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนไทย ที่เทียบเคียงกับมาตรฐานตลาดทุนที่พัฒนาแล้ว (Developed Markets)
สิ่งที่น่าสนใจจากรายงานนี้ คือ การศึกษาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อบริษัทจดทะเบียนในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนผ่านกลไกภาคบังคับ (Mandatory) เช่น กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับจากภาครัฐและตลาดทุน และภาคสมัครใจ (Voluntary) เช่น การเผยแพร่คู่มือและแนวปฏิบัติการรายงาน (ESG หรือ Sustainability Reporting Guidelines) การอบรมให้ความรู้ เป็นต้น
ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน คือ ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ได้แก่ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และสวีเดน โดยมีกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลความยั่งยืนไปพัฒนาดัชนีความยั่งยืน (ESG หรือ Sustainability Indexes) และกำหนดให้บริษัทที่อยู่ในดัชนีดังกล่าวต้องรายงานความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้ลงทุนว่าจะได้รับข้อมูลที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ การพัฒนาดัชนีความยั่งยืนถือเป็นกระบวนการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนและผู้ลงทุนเห็นประโยชน์ของการวิเคราะห์และประเมินข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่แนวปฏิบัติการรายงานความยั่งยืน และสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลด้านความยั่งยืน (Nordic Sustainable Investment Platform: NordSIP) เพื่อเชื่อมโยงผู้ลงทุนสถาบันและผู้จัดการกองทุนให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนอย่างยั่งยืน (ESG หรือ Sustainability Investment Products) อีกด้วย
สำหรับตลาดหลักทรัพย์ต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียเริ่มตื่นตัวและกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นเพื่อประโยชน์ทั้งด้านการจัดการธุรกิจและเป็นเครื่องมือสำหรับการลงทุน โดยเน้นเผยแพร่คู่มือและแนวปฏิบัติการรายงานด้านความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนตามความสมัครใจ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง และไทย แม้ว่ากระแสการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนจะเพิ่งเริ่มแพร่หลายในเอเชียแต่จากคะแนนประเมินของรายงานฉบับนี้สะท้อนให้ว่าตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำในเอเชียมีพัฒนาการที่โดดเด่นและมีแนวโน้มการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลการศึกษาแนวโน้มการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของ Corporate Knights ยังสอดคล้องกับงานวิจัย 2 เรื่องโดย Harvard Business School ได้แก่ เรื่อง The Consequences of Mandatory Corporate Sustainability Reporting ที่ระบุว่าบริษัทในดัชนี S&P 500 มีการรายงานความยั่งยืนเพิ่มจาก 20% เป็น 80% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากกลไกภาคบังคับและภาคสมัครใจจากการส่งเสริมของตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละประเทศ และรายงานการวิจัยเรื่อง The Impact of Corporate Sustainability on Organizational Processes and Performance ยังระบุว่าบริษัทที่มีการวัดผลและเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจมีความสัมพันธ์กับการเติบโตของราคาหลักทรัพย์และผลประกอบการในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญซึ่งเกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ลูกค้า และสัมพันธภาพที่ดีกับผู้มีส่วนได้เสีย
การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ถูกต้อง รวดเร็ว และครบถ้วน ถือเป็นหัวใจสำคัญของบริษัทจดทะเบียนเนื่องจากเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุน ผู้มีส่วนได้เสีย และตลาดทุนโดยรวม อีกทั้งปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนและผู้ลงทุนต้องเผชิญกับความผันผวนที่ไม่ได้เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่มีผลต่อความอยู่รอดและการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว เช่น ความก้าวหน้าเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ดังนั้นการนำเสนอและเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียในยุคดิจิทัลนี้แล้ว
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงมุ่งพัฒนาบริษัทจดทะเบียนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการและลดความเสี่ยงให้ธุรกิจที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนให้มีการประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ รวมถึงมีกระบวนการวัดความก้าวหน้าและเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียเกิดความมั่นใจและผู้ลงทุนมีข้อมูลอย่างเพียงพอสำหรับตัดสินใจลงทุน
แม้ว่าผลการจัดอันดับของ Corporate Knights จะสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนไทยให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากอันดับที่ 40 ในปี 2013 เป็นอันดับ 10 ในปี 2017 แต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังคงผลักดันเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงศักยภาพ สภาพแวดล้อม และความพร้อมของบริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่ง เพื่อให้บริษัทมีแนวทางการรายงานข้อมูลความยั่งยืนที่เหมาะสมกับกลยุทธ์องค์กรและสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่คู่มือแนวปฏิบัติและการรายงานความยั่งยืน การส่งเสริมรายงานตามมาตรฐานสากล GRI ตลอดจนมุ่งพัฒนาและสร้างช่องทางให้ทุกคนในตลาดทุนสามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อเป็นเครื่องมือพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรและสร้างคุณค่าทางการลงทุนอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “To Make The Capital Market “Work” for Everyone”
ข่าวเด่น