ไอที
เตือนวางแผนรับมือภัยไซเบอร์ชี้ยิ่งโลกเชื่อมต่อยิ่งเสี่ยงถูกโจมตี


 ภัยจากไซเบอร์ยังเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง  ในสังคมยุคปัจจุบันที่มีการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด   ซึ่งนางสาว วิไลพร  ทวีลาภพันทอง  หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย   เปิดเผยถึงรายงาน Global State of Information Security(R) Survey (GSISS) ของ PwC ที่สำรวจความคิดเห็นนักธุรกิจและผู้นำบริษัทไอทีชั้นนำทั่วโลกจำนวน 9,500 ราย ใน 122 ประเทศว่า  ภัยไซเบอร์ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ธุรกิจทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน แต่องค์กรส่วนใหญ่กลับไม่ให้ความสำคัญในการวางกลยุทธ์ด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูล (Information Security) เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว  โดยผลสำรวจพบว่า 44% ของผู้บริหารทั่วโลกระบุว่า พวกเขาไม่มีกลยุทธ์ด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูล 

 


          
รายงานของ PwC ชี้ว่า 40% ของผู้บริหารที่ถูกสำรวจทั่วโลกระบุว่า  ผลลัพธ์จากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ที่ร้ายแรงที่สุด คือ การหยุดชะงักของการดำเนินงานของธุรกิจ   ขณะที่ 39% มองว่า  ภัยไซเบอร์ส่งผลต่อความปลอดภัยของข้อมูลที่มีความอ่อนไหว   ส่วน 32% มองว่า เป็นภัยต่อคุณภาพของสินค้าที่ออกสู่ตลาด และ 22% มองว่า เป็นภัยที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของชีวิตมนุษย์
          
แม้ผู้บริหารจะมีความตระหนักถึงภัยไซเบอร์  แต่กลับไม่มีกลยุทธ์เพื่อป้องกันความปลอดภัยของข้อมูล โดย 48% กล่าวว่า ตนยังไม่มีหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยข้อมูลที่เหมาะสมให้แก่พนักงาน และ 54% ระบุว่า พวกเขายังไม่มีแผนการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อเกิดภัยไซเบอร์ขึ้นยิ่งโลกเชื่อมต่อ ยิ่งเสี่ยงเกิดภัยไซเบอร์ 
          
นางสาว วิไลพร กล่าวต่อว่า ในยุคที่โลกเชื่อมโยงกันด้วยเทคโนโลยีและระบบคอมพิวเตอร์ เช่นปัจจุบัน ยิ่งทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดภัยไซเบอร์โดยอาชญากรหรือบรรดาแฮกเกอร์ทั่วโลกนั้นมีมากขึ้นตามไปด้วย โดยรายงาน 2017 Global Risks ที่ใช้ในการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum ที่ผ่านมา ยังระบุว่า ภัยไซเบอร์ ถือเป็น 1 ในความเสี่ยงสำคัญ ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่โลกเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น
         
รายงานฉบับดังกล่าว  ยังแสดงให้เห็นว่า ยิ่งโลกเชื่อมโยงกันมากขึ้น โอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากภัยไซเบอร์โดยไม่ทันตั้งตัวยิ่งสูงตามไปด้วย   เพราะโดยปกติ เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยทันที คือ การสูญเสียอำนาจในการควบคุม โดยระบบต่างๆ จะถูกโจมตีในระยะเวลาอันสั้นหรือใช้เวลาภายในวันเดียว ดังนั้น การที่โลกมีการเชื่อมต่อเครือข่ายต่างๆ ทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญมากมายเช่นทุกวันนี้ ยิ่งเปิดช่องโหว่ทำให้ผู้ถูกโจมตีไม่สามารถสังเกตเห็นถึงความผิดปกติ ก่อนที่การโจมตีจะเกิดขึ้น  ด้วยเหตุนี้หลายๆ ประเทศชั้นนำทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา   เยอรมนี   สหราชอาณาจักร  และ เกาหลีใต้  จึงมีความกังวลสูงต่อการถูกโจมตีทางอินเทอร์เน็ตจากประเทศอื่นๆ 

 


         
นอกจากนี้ ความนิยมในการใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (The Internet of Things: IoT) ยังทำให้ช่องโหว่ด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ขยายตัวในวงกว้างมากขึ้น กลายเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของข้อมูลและความน่าเชื่อถือของระบบ อีกทั้งอาจก่อให้เกิดภัยคุกคามทางกายภาพต่อโครงสร้างที่สำคัญขององค์กรได้

ขณะเดียวกัน PwC ได้แนะนำ 3 ขั้นตอนที่จะช่วยให้ผู้นำองค์กรสามารถเตรียมความพร้อมรับมือการโจมตีทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดย ผู้บริหารระดับสูง (C-suites) ต้องเป็นผู้นำ และคณะกรรมการต้องมีส่วนร่วม  ผู้นำอาวุโสขององค์กรต้องเป็นหลักในการขับเคลื่อนองค์กร  เพื่อเตรียมความพร้อมในการเตรียมตัวและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านไซเบอร์  พร้อมทั้งต้องมีการกำหนดกลยุทธ์จากผู้บริหารสู่พนักงานในระดับปฏิบัติการเพื่อจัดการกับความเสี่ยงด้านข้อมูลไซเบอร์ รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลในองค์กรด้วย การสร้าง "ความยั่งยืน" ในการปรับตัวขององค์กรจะเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ   การนำพาองค์กรให้บรรลุสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนไม่ใช่การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในระยะสั้น  ซึ่งจะเป็นหนทางสู่การดำเนินธุรกิจอย่างแข็งแกร่งและยาวนาน


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ม.ค. 2561 เวลา : 20:19:11
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 8:48 pm