ยังคงแข่งขันกันอย่างรุนแรงสำหรับตลาดผลิตภัณฑ์ความงาม เนื่องจากสาวไทยยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองให้ดูดี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แต่ละปีตลาดผลิตภัณฑ์ความงามมีอัตราการเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 10% เช่นเดียวกับปี 2560 ที่ผ่านมาที่ภาพรวมตลาดผลิตภัณฑ์ความงามมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 10% จากมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งในมูลค่าดังกล่าวแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวประมาณ 70,000 ล้านบาท และในมูลค่านี้แบ่งเป็นผิวกายประมาณ 20% และดูแลผิวหน้าประมาณ 80%
จากมูลค่าของตลาด ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าที่มีมูลค่าค่อนข้างมหาศาลส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต่างเล็งเห็นโอกาสในการผลิตสินค้าใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดที่ควรจะได้ เพราะกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้ายังมีโอกาสให้เข้าไปทำตลาดได้อีกมาก
นางหฤดี วรพงศ์พิสุทธิ์ ผู้จัดการทั่วไปผลิตภัณฑ์โซลวาซู ประเทศไทย บริษัท อมอร์แปซิฟิค ไทยแลนด์ กล่าวว่า ทิศทางของตลาดสกินแคร์ในปี 2561 นี้ มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น เนื่องจากลูกค้ามีการเปิดกว้างในการใช้ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ใหม่ๆ มากขึ้น เห็นได้จากการเริ่มใช้สกินแคร์ตั้งแต่ก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ตลาดสกินแคร์ในประเทศไทยมีการเจริญเติบโตมากกว่าประเทศอื่นๆ และมีฐานตลาดกว้างขึ้น
ทั้งนี้ จากแนวโน้มที่ดีดังกล่าว โซลวาซู ยังเล็งเห็นโอกาส ด้วยการวางแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งกลุ่มสกินแคร์และกลุ่มเมคอัพให้มีความหลากหลายและสร้างความแข็งแกร่งให้สินค้าที่เหมาะกับผิวคนไทย เพื่อขยายและเจาะตลาดลูกค้าระดับกลางมากขึ้น ด้วยราคาที่เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งนอกจากจะทำตลาดในประเทศแล้วยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
นางหฤดี กล่าวว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในการซื้อผลิตภัณฑ์โซลวาซูค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นๆ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาทต่อบิล หรือประมาณ 3-4 ชิ้น ต่อการซื้อ 1 ครั้ง เนื่องจากความคุ้มค่าในราคา และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยประเทศไทยขายในราคาเดียวกับที่เกาหลี แต่มีการบริการที่มากกว่าเช่น การนวดหน้า หรือดูแลผิวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงการให้คำแนะนำอย่างละเอียด ด้วยการวิเคราะห์ผิวให้กับลูกค้า และโปรแกรมสมาชิกสะสมคะแนน เพื่อแลกเป็นสินค้า
นอกจากนี้ โซลวาซู ยังมีแผนที่จะใช้มงบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ในการขยายสาขา เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์โซลวาซูเพิ่มเติมในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ โดยภูมิภาคที่จะให้ความสนใจในการเข้าไปขยายธุรกิจเป็นอันดับแรก คือ ภาคใต้ ซึ่งเบื้องต้นบริษัทมีแผนที่จะเข้าไปขยายธุรกิจในจังหวัด เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่กว้างขึ้น
ขณะเดียวกัน ยังถือเป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าในการเดินทางมาซื้อสินค้า เนื่องจากปกติลูกค้าที่อยู่ภูมิภาคต่างๆ จะต้องเดินทางมาซื้อสินค้าในกรุงเทพฯ หรือสั่งทางออนไลน์ ซึ่งลูกค้าบางส่วนไม่มีความสะดวกในการเดินทาง บริษัทจึงเล็งเห็นโอกาสในการเข้าไปขยายธุรกิจในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ของแต่ละภูมิภาค
อย่างไรก็ดี เพื่อสร้างการรับรู้ให้คนไทยรู้จักแบรนด์ โซลวาซู มากยิ่งขึ้น จึงทำให้ต้องเน้นการทำกิจกรรมการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ และเพิ่มการโฆษณาสินค้าในสื่อแมกกาซีน รวมถึงกิจกรรมทางการตลาดต่างๆแบบครบวงจร เนื่องจาก โซลวาซู เป็นแบรนด์น้องใหม่ในตลาดสกินแคร์ของไทย
น.ส.วิภาวริศ เกตุปมา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นดับบลิว แลบบอราทอรี่ส์ (ประเทศไทย) ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์ดูแลผิวภายใต้ชื่อ “บอนด์แคร์” กล่าวว่า จากการที่มีแนวโน้มตลาดสกินแคร์มีการเติบโตสูง เนื่องจากผู้บริโภคมีการให้ความสำคัญกับการดูแลผิวหน้าเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่แต่งหน้าเป็นประจำ บริษัทจึงเล็งเห็นโอกาสในการเข้ามาทำธุรกิจความงาม ด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าภายใต้ชื่อ "บอนด์แคร์" เข้ามาทำตลาด เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการดูแลผิวหน้าเป็นพิเศษ
ปัจจุบันบริษัทมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์บอนด์แคร์เข้ามาทำตลาดด้วยกัน 6 รายการ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์เจลล้างหน้า ผลิตภัณฑ์เจลปกป้องผิว ผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิว ผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาว และผลิตภัณฑ์ครีมกันแดด ซึ่งหลังจากเปิดตัวสินค้าดังกล่าวเข้าทำตลาดเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมาพบว่าลูกค้าให้ผลการตอบรับที่ดี
ส่วนแนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2561 นี้ บริษัทจะเริ่มเปิดรับตัวแทนจำหน่าย ควบคู่ไปกับการขายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค หลังจากก่อนหน้านี้เน้นการขายผ่านช่องทางคลินิกความงามบอนด์แคร์เป็นหลัก ขณะเดียวกันก็มีแผนที่จะเปิดตัวสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่มเติมอีกประมาณ 2-3 รายการ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยสิ้นปี 2561 นี้ บอนด์แคร์ คาดว่าจะมีรายได้เติบโตจากปี 2560 ไม่ต่ำกว่า 100%
ด้าน น.ส.ณลันรัตน์ นันท์นนส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มพีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MPG ผู้ดำเนินธุรกิจความงามภายใต้แบรนด์ "คลาวด้า" กล่าวว่า แผนการทำตลาดเครื่องสำอางคาวด้านับจากนี้ นอกจากจะจำหน่ายภายในร้านสตาร์ดัสท์แล้ว บริษัทยังมีแผนที่จะขยายช่องทางจำหน่ายไปยังช่องทางออนไลน์อีกด้วย โดยบริษัทจะเน้นการจับมือกับพันธมิตรที่ทำธุรกิจมาร์เก็ตเพลซ เพื่อนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในช่องทางดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังจะขยายช่องทางขายในออฟไลน์ใน 4 ช่องทางหลัก คือ 1.ห้างค้าปลีกและร้านค้าปลีก เช่น ร้านวัตสัน 2.ร้านค้าทั่วไป เช่น ยี่ปั๊ว และซาปั๊ว 3.ร้านขายส่ง และ 4 การจับมือกับพันธมิตรในต่างประเทศ เพื่อให้สินค้าครอบคลุมความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะเข้าไปทำตลาดมากขึ้น
ข่าวเด่น