กระทรวงพาณิชย์ไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC เศรษฐกิจไทย-จีน) ครั้งที่ 6 โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางสาวชุติมา บุณยประภัศร) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (นางเกา เยี่ยน) เป็นประธานร่วม ในวันที่ 12 มกราคม 2561 ณ โรงแรมแชงกรี-ล่า กรุงเทพฯ
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมJC เศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 6 (ระดับรองนายกรัฐมนตรี) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2561 โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันติดตามความคืบหน้าในประเด็นต่างๆของการประชุมครั้งที่ผ่านมา อาทิ ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ ดิจิทัล ฯลฯ ทั้งนี้ การประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน ในระดับรองนายกรัฐมนตรี ถือเป็นกลไกการหารือทวิภาคีระดับสูง (รองนายกรัฐมนตรี) ระหว่างไทย-จีน ซึ่งสองประเทศให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ตลอดจนกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสองประเทศต่างมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกัน อาทิ ยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การค้าและการลงทุนตามข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีน ตลอดจนแนวทางการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ มาปรับปรุงการดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างรอบด้าน กับยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” เศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย
นางสาวชุติมา กล่าวเสริมว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และมีผลต่อความอยู่ดีกินดีของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากจีนมีจุดแข็งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ในขณะที่ไทยมีจุดแข็งด้านการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร ไทยจึงมุ่งเน้นความร่วมมือกับจีนในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นสูง และอุตสาหกรรมชีวภาพ ตลอดจนการใช้นวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มายกระดับภาคการผลิตสินค้าเกษตร การพัฒนาเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farmer) และการใช้ประโยชน์จากช่องทางการค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ความร่วมมือต่างๆ ที่กล่าวมา จะมีผลต่อการยกระดับห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มระหว่างไทย-จีน และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย ในขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 15 และแหล่งนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2559 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 65.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2560 (ม.ค.-พ.ย.) การค้ารวมระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 67 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ และผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น ทั้งนี้ ไทยและจีนได้ตั้งเป้าหมายการค้าสองฝ่ายให้มีการขยายตัวเป็นสองเท่า หรือ 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563
ข่าวเด่น