รองนายกรัฐมนตรีสมคิด กระตุ้นการลงทุน มอบ3 นโยบายให้บีโอไอเร่งขับเคลื่อนการลงทุน เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตร พร้อมประกาศจัดสัมมนาใหญ่ Thailand Taking Off เดือนมี.ค.นี้ ขณะที่บีโอไอตั้งเป้าปีนี้ขอรับส่งเสริมการลงทุนแตะ 7.2 แสนล้านบาทโต 12%
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายปี 2561 ให้ สำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า ปี 2561 บีโอไอตั้งเป้าหมายยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนไว้ที่ 7.2 แสนล้านบาท เติบโตจากเป้าหมายปีที่แล้ว 12% เนื่องจากปีนี้จะมีโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการที่จะเห็นผลเป็นรูปธรรม พร้อมกับจะมีการจัดงานสัมมนา Thailand Taking off” ของบีโอไอในวันที่ 19 มี.ค.2561 ที่อิมแพค เมืองทองธานี เพื่อชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve คาดว่า จะมีจำนวนนักลงทุนเข้าร่วมกว่า 2,500 คน ภายใต้คอนเซ็ปที่ต้องการให้นักลงทุนรู้ถึงสถานการณ์ ของประเทศไทยในปัจจุบัน
นอกจากนี้ได้มอบนโยบายให้ BOI โดยเน้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในภาคการเกษตร ทั้งการแปรรูปหรืออาหารแห่งอนาคต เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร พร้อมทั้งมอบหมายให้ BOI เพิ่มการส่งเสริมการลงทุนด้านบุคลากร ซึ่งหากมีสถาบันการศึกษาทั้งในและนอกระบบมีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เช่น ด้านดิจิตอลหรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคตก็ให้ได้รับสิทธิ์ประโยชน์เพิ่มเติม รวมถึงในปีนี้ให้เน้นการส่งเสริมการลงทุนด้านบริการการท่องเที่ยว
สำหรับการเดินสายชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ (โรดโชว์) นั้น นายสมคิด กล่าวว่า จะเป็นในรูปแบบของ Local to Local โดยเริ่มที่เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เพราะเมืองฟุกุโอกะ มีอุตสากรรมขนาดใหญ่และมีเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปีนี้ที่จะมีการจัดงานThailand Taking off เพื่อชักจูงการลงทุนที่สอดคล้องไปโครงสร้างพื้นฐานของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะเห็นความชัดเจนมากขึ้น และในช่วงที่ผ่านมาไทยมีการเชื่อมความสัมพันธ์กับอียูและสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้การลงทุนของไทยเติบโตขึ้นตามเป้าหมายที่บีโอไอตั้งไว้
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า การขอส่งเสริมการลงทุนในปี 2560 อยู่ที่ 6.41 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6 แสนล้านบาท และเติบโตกว่าการส่งเสริมการลงทุนในปี 2559 ถึง 22% ที่มียอดการขอส่งเสริม 5.24 แสนล้านบาท โดยมีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 1,456 โครงการ ซึ่งเป็นการยื่นขอลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี ) จำนวน 388 โครงการ คิดเป็น 46% ของการขอลงทุนรวม เป็นเงินลงทุน 2.96 แสนล้านบาท เป็นการยื่นขอรับส่งเสริมของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอสเคิร์ฟ) คิดเป็น 61% ของการขอรวม เป็นมูลค่า 3.92 แสนล้านบาท
ส่วนการขอส่งเสริมการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในปีที่ผ่านมา 4 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ญี่ปุ่น รองลงมาได้แก่ สิงคโปร์ จีน และสหรัฐอเมริกา
ข่าวเด่น