ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ผู้นำอันดับหนึ่งในการให้บริการโซลูชั่นครบวงจรด้านโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรมของไทย เผยแผนและทิศทางธุรกิจปี 2561 และอนาคต คาดการณ์ปีนี้ทั้งกลุ่มจะมีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัทและกิจการร่วมค้าเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เตรียมทุ่มเงินลงทุน 6.6 พันล้านบาทจากแผนการลงทุน 5 ปี รวม 43,000 ล้านบาท (ระหว่างปี 2559 – 2563) ด้วยปัจจัยเอื้อจากสภาพเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว บวกกับความน่าสนใจลงทุนของประเทศที่ดีขึ้นจากโครงการสนับสนุนของภาครัฐ อาทิ โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
ด้วยสภาพเศรษฐกิจในประเทศ ตลอดจนระดับภูมิภาคและทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น WHAเตรียมย้ำตำแหน่งผู้นำด้านการให้บริการโซลูชั่นครบวงจรด้านโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรมของประเทศ ใน 4 กลุ่มธุรกิจของบริษัท ได้แก่ โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน และดิจิทัล พร้อมเล็งหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ เน้นอุตสาหกรรมบริการมูลค่าสูง และเตรียมรุกขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2560 ที่ผ่านมา ธุรกิจของ WHA ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เช่น มีสัญญาเช่าพื้นที่และพื้นที่ที่ตกลงกับผู้เช่าล่วงหน้า (Pre-leased) เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 161,500 ตร.ม. ในรูปแบบโรงงาน Built-to-Suit (BTS) ที่ประกอบด้วยคลังสินค้า, ศูนย์กระจายสินค้า และโรงงาน รวมถึงโรงงานสำเร็จรูป (Ready-Built Factories - RBF) คลังสินค้าสำเร็จรูป (Ready-Built Warehouse – RBW) และกลุ่มคลังสินค้า (Warehouse Farms) มียอดขายที่ดินอุตสาหกรรมเกือบ 1,000 ไร่ คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าร้อยละ 50 นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (HESIE 4) ยังได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ให้เป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม สำหรับอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ดับบลิวเอชเอ เหมราช อินดัสเตรียล โซน เฟสแรก ในจังหวัดเหงะอาน ในประเทศเวียดนามได้รับการอนุมัติเป็นที่เรียบร้อย รวมถึงการนำบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยมูลค่าตลาดรวม 20,000 ล้านบาท การเริ่มให้บริการศูนย์ข้อมูล 3 แห่ง และบริษัทสามารถลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลงเหลือ 1.2 เท่า ส่งผลให้ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทเป็นระดับ “A-”
“แนวทางธุรกิจของเรามาจากวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและการวิเคราะห์สภาพตลาดอย่างรอบด้าน รวมถึงความสามารถในการคว้าโอกาสทางธุรกิจทั้งหมดในสี่กลุ่มธุรกิจของเราด้วย” นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป กล่าว "สำหรับประเทศไทย เรามุ่งมั่นที่จะเน้นย้ำสถานะความเป็นผู้นำของเราด้วยการสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลอย่างเต็มกำลัง อาทิ โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และมีบทบาทอย่างแข็งขันในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ในขณะเดียวกัน เราก็ยังมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการขยายและพัฒนาธุรกิจของเราในประเทศเพื่อนบ้าน และจีนไปพร้อม ๆ กัน”
ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป: ผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงการอีอีซี
นับแต่เริ่มต้น ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้แสดงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนโครงการอีอีซีของรัฐบาลผ่านการดำเนินกิจกรรมทั้งสี่กลุ่มธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะธุรกิจโลจิสติกส์ของ WHA ที่ได้จัดเตรียมศูนย์โลจิสติกส์ขนาดใหญ่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งรวมมีพื้นที่ขนาด 800,000 ตร.ม. เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในเขตอีอีซี
จากจำนวนนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ-เหมราช 9 แห่งที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน มีนิคมฯ 8 แห่งตั้งอยู่ในเขตอีอีซี และอีก 2 แห่งที่อยู่ระหว่างการพัฒนา รวมเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้นกว่า 45,000 ไร่ และมีพื้นที่รอขายอีกกว่า 10,000 ไร่ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ได้อนุมัติให้นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (HESIE 4) ซึ่งมีพื้นที่รวม 1,400 ไร่ ในจังหวัดระยอง เป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมสำหรับอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในการส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมประกอบด้วย การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (S-curve) อันได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เกษตรกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ควบคู่ไปกับ 5
อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) อันได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมดิจิทัล
ยิ่งไปกว่านั้น WHA ยังสามารถให้บริการแก่ลูกค้ากว่า 700 รายที่ตั้งอยู่ในเขตอีอีซี ด้วยบริการสาธารณูปโภคและระบบจัดการน้ำเสีย ซึ่งมีกำลังการผลิดรวมกว่า 155 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีกำลังผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 478 เมกะวัตต์ นิคมอุตสาหกรรมของบริษัท 8 แห่งที่ติดตั้งพร้อมด้วยระบบไฟเบอร์ออพติค (FTTx) โครงการท่อจัดจำหน่ายและค้าปลีกก๊าซธรรมชาติในนิคมอุตสาหกรรมอีก 2 โครงการ และโอกาสในการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบนพื้นที่อีก 2.1 ล้านตร.ม. ด้วย
“ด้วยทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ของเรา ประกอบกับการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและมาตรการจูงใจต่าง ๆ เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า อีอีซีจะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และบรรลุเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลได้ในที่สุด" นางสาวจรีพร กล่าว
ผู้นำด้านการจัดหาโซลูชั่นด้านโลจิสติกส์ครบวงจรของเอเซีย
จากธุรกิจหลักแต่แรกเริ่มของ WHA ด้วยแนวคิด Built-to-Suit (BTS) กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์วางแผนที่จะเพิ่มพื้นที่ให้เช่าขึ้นอีกร้อยละ 11 ในปี 2561 จากเดิม 2,151,000 ตร.ม. เป็น 2,391,000 ตร.ม. โดยจะเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมบริการที่สร้างมูลค่าสูง อาทิ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และสินทรัพย์ให้เช่าที่สร้างมูลค่าสูง สอดคล้องไปกับการพัฒนาอี-คอมเมิร์ซ
เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บริษัทได้ลงนามในข้อตกลงกับบริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด ธุรกิจร่วมทุนระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล และเจดีดอทคอม หนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจอี-คอมเมิร์ซจากประเทศจีน เพื่อเช่าคลังสินค้ารวมพื้นที่ 6,848 ตร.ม. ที่ดับบลิวเอชเอ เมกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ ชลหารพิจิตร บนถนนบางนา-ตราด นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมขยายพื้นที่เฟสสองให้กับท็อปส์ มาร์เก็ต ของกลุ่มเซ็นทรัลอีกด้วย
บริษัทจะเตรียมดำเนินการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย และกัมพูชาต่อไป โดยในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเน้นอุตสาหกรรมเพื่อการบริโภคภายในประเทศมีศักยภาพสูงมาก ดับบลิวเอชเอก็มีพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าแบบ Built-to-suit อยู่ 25,688 ตร.ม. ในจังหวัดบันเติง จาการ์ตาตะวันตก
สำหรับการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) นั้น จะดำเนินการผ่านกอง REIT สองกองคือ WHART และ HREIT
“ในประเทศไทย เราตั้งตารอที่จะได้มีโอกาสช่วยผลักดันให้เกิดกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการใหม่ ๆ ในอีอีซี” นางสาวจรีพร กล่าว “ในอินโดนีเซียและเวียดนาม ทั้งสองประเทศต้องการพัฒนาศักยภาพด้านโลจิสติกส์ให้ทันสมัยและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเราจะใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมของเรา รวมทั้งการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ไดวะ เฮาส์ อินดัสทรี จากประเทศญี่ปุ่นด้วย” นางสาว จรีพร กล่าวอธิบาย
ผู้นำด้านนิคมอุตสาหกรรมระดับเวิลด์คลาสของเอเชีย
ในปี 2561 ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของ WHA มีแผนที่จะให้บริการนิคมอุตสาหกรรมรวม 10 แห่งในประเทศไทย และอีก 1 แห่งในเวียดนาม พื้นที่รวม 39,300 ไร่ โดยตั้งเป้าขายที่ดิน 1,400 ไร่ จากจำนวน 1,000 ไร่ในปี 2560 โดยมีที่ดินรอขายอีกกว่า 10,000 ไร่
ด้วยส่วนแบ่งตลาดด้านการขายที่ดินอุตสาหกรรมเฉลี่ยร้อยละ 34 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 50 ในปี 2560 โดยกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของ WHA เตรียมขยายธุรกิจไปสู่โครงการอุตสาหกรรมบริการที่มีมูลค่าสูงและนิคมฯ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งจะเน้นอุตสาหกรรมการบิน, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมดิจิทัล, อุตสาหกรรมการแพทย์ และอุทยานนวัตกรรม ตามแผนโครงการอีอีซี
และเพื่อคว้าโอกาสจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้งสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟสสาม โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง และโครงการรถไฟรางคู่ WHA จะเปิดตัวนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 3 (HESIE 3) ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 10 ของบริษัทในจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีพื้นที่รวม 2,200 ไร่ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561
ด้วยลูกค้ากว่า 700 ราย สัญญาซื้อขายและเช่าที่ดินกว่า 1,000 สัญญา ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของ WHA ได้รับประโยชน์หลายประการจากฐานลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม "โครงการอีอีซีดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ มากมายจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และยุโรป” มร. เดวิด นาร์โดน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และการลงทุนต่างประเทศ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) กล่าว “นักลงทุนให้ความสนใจอย่างมากในเรื่องทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ต้นทุนที่เหมาะสม และทักษะแรงงานที่มีฝีมือ ยังไม่นับรวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย" เขากล่าว
ในเวียดนาม ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จะดำเนินการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในจังหวัดเหงะอาน อย่างต่อเนื่อง โดยเฟสที่ 1 จะมีพื้นที่ราว 3,110 ไร่ จากพื้นที่รวม 20,000 ไร่ของทั้งโครงการ
“เศรษฐกิจของเวียดนามยังคงเติบโตดีต่อเนื่องด้วยเงินลงทุนตรงจากต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมที่เน้นภาคการส่งออก” เขากล่าวเสริม
ผู้นำอันดับหนึ่งด้านบริการสาธารณูปโภคและพลังงานแห่งเอเชีย
ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ยังคงเดินหน้าขยายการเติบโตสอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอช-เหมราช ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเจาะกลุ่มลูกค้านอกนิคมอุตสาหกรรมเพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ เทศบาล และอาคารเพื่อการพาณิชย์
ในส่วนของธุรกิจสาธารณูปโภค ซึ่งให้บริการน้ำดิบ น้ำประปา และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม รวมไปถึงระบบจัดการน้ำเสีย จะยังคงขยายบริการในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ-เหมราชทั้งหมดในประเทศไทย รวมไปถึงนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 3 (HESIE 3) และการเริ่มให้บริการของเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในจังหวัดเหงะอาน ประเทศเวียดนาม รวมถึงโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ในเวียดนามด้วย
นอกจากนี้ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ ยังมีแผนที่จะเจาะตลาดCLMV และเพิ่มบริการใหม่ๆ เช่น การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ การกรองแร่ธาตุออกจากน้ำ และการกรองน้ำเค็ม โดยประมาณการณ์กำลังการผลิตน้ำสำหรับปี 2561 อยู่ที่ 113 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปี 2560 อันเนื่องมาจากความต้องการใช้งานที่สูงขึ้นของลูกค้าปัจจุบันและลูกค้ารายใหม่ รวมถึงอัตราการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นจากโรงไฟฟ้าที่เพิ่งเดินเครื่องผลิต ทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้ WHAUP รั้งตำแหน่งผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภคเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยต่อไป
สำหรับธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบัน WHAUP ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจำนวน 15 โครงการ (ในประเทศไทย 14 โครงการ และอีกหนึ่งโครงการในประเทศลาว) โดยจะมีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 2,540 เมกะวัตต์ในปี 2562 โดย WHAUP มีสัดส่วนการถือครองกำลังการผลิตไฟฟ้าจำนวน 543 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าอยู่ในระหว่างการดำเนินการ 11 โครงการด้วยกกำลังการผลิต 478 เมกะวัตต์ (กำลังการผลิตตามสัญญา 2,287.4 เมกะวัตต์) ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) 3 แห่ง ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัทโกลว์ โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 6 แห่ง ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัท บี กริม (1 แห่ง ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี) รวมถึงกับบริษัท กัลฟ์ เจพี (1 แห่ง ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราชระยอง) และกับบริษัท กัลฟ์ เอ็มพี (4 แห่งในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด และนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด) และยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ VSPP ซึ่งร่วมมือกับกัลฟ์และกันกุลอีก 2 แห่ง
ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าอยู่ในระหว่างพัฒนา 4 โครงการ ด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 65 เมกะวัตต์ (กำลังการผลิตตามสัญญา 253 เมกะวัตต์) โดยคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2561 และ 2562 ซึ่งในที่นี้รวมถึงโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 2 แห่ง ภายใต้ความร่วมมือกับกัลฟ์ เอ็มพี โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ VSPP อีก 1 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานจากขยะ VSPP อีก 1 แห่ง ซึ่งร่วมมือกับโกลว์และสุเอซ ผ่านธุรกิจร่วมทุน บริษัท ชลบุรี คลีนเอ็นเนอร์ยี จำกัด หรือ CCE
นอกจากการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานดั้งเดิมอย่างถ่านหิน น้ำ และแก๊สแล้วWHAUP ยังวางแผนพัฒนาพลังงานทางเลือก อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานขยะอีกด้วย ด้วยพื้นที่บนหลังคาในนิคมอุตสาหกรรม และอาคารศูนย์กระจายสินค้าและโลจิสติกส์ของดับบลิวเอชเอ กว่า 2.1 ล้านตารางเมตร จะเป็นช่องทางที่สำคัญในการต่อยอดการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงอาคารอื่นๆ นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ-เหมราช ด้วย
“สำหรับธุรกิจสาธารณูปโภคในประเทศไทย เรามีแผนขยายธุรกิจไปสู่บริการจ่ายก๊าซธรรมชาติ ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ส่วนในต่างประเทศ ประเทศเวียดนามและพม่าจะเป็นประเทศแรก ๆ สำหรับการลงทุนของกลุ่มธุรกิจนี้” นายวิเศษ จูงวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าว
“ในด้านพลังงาน เรายังคงมุ่งมั่นพัฒนาพลังงานรูปแบบเดิมร่วมกับพันธมิตร ควบคู่ไปกับพลังงานหมุนเวียน รวมถึงแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในเวียดนาม” นายวิเศษ กล่าวเสริม
บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ
ในปี 2561 กลุ่มธุรกิจดิจิทัลของดับบลิวเอชเอ จะดำเนินการเพิ่มตู้แร็คอีก 156 ตู้ในดาต้าเซ็นเตอร์ทั้ง 3 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 34 จากเดิมที่มีตู้แร็คทั้งสิ้น 461 ตู้ มาเป็น 617 ตู้ พร้อมขยายบริการไฟเบอร์ออพติก (FTTx) จากปัจจุบันที่ให้บริการใน 5 นิคมอุตสาหกรรม ให้ครอบคลุมทุกนิคมอุตสาหกรรม
ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นครบวงจรแก่ลูกค้า ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์เหล่านี้จะให้บริการโครงข่ายและโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ให้เช่าและจัดหาบริการด้านอุปกรณ์ไอที คลาวด์คอมพิวติ้งและบิ๊กดาต้า บริการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและเครื่องจักรอัตโนมัติ เครื่องมือตรวจสอบและระบบควบคุม เครื่องหาปริพันธ์ระบบ ไปจนถึงบริการอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ
กลุ่มธุรกิจดิจิทัลนับเป็นภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับนโยบายโครงสร้างพื้นฐานในโครงการอีอีซีและการลงทุนด้านเทคโนโลยี สะท้อนถึงโอกาสสำคัญที่จะเติบโตและพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต ด้วยการเติบโตของระบบอีคอมเมิร์ซ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ และบทบาทของ “บิ๊กดาต้า” ที่กำลังมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ดาต้าเซ็นเตอร์เป็นที่ต้องการมากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ
“ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ ด้วยการเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจรสำหรับบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ครอบคลุมบริการและโซลูชั่นดาต้าเซ็นเตอร์ที่ครบครัน อีกทั้งยังจับมือทำงานร่วมกับพันธมิตรผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีชั้นนำมากมาย ในการให้บริการศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ โครงข่ายไฟเบอร์ออพติค และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย” นางสาวจรีพร กล่าว
ข่าวเด่น