รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เป็นหน่วยงานกลาง ในการบูรณการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ ในการยกระดับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับอัญมณีและเครื่องประดับจากประเทศไทย-ในต่างประเทศ โดยให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานพลอยสี เช่น ทับทิมและไพลิน สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าพลอยสีชั้นนำของโลก หวังผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าพลอยสีชั้นนำของโลก
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการเข้าเยี่ยมชมสถาบัน GITและมอบนโยบายในการดำเนินงานเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในครั้งนี้ เพื่อต่อยอดและเร่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ประจำปี 2561 โดยมอบหมายให้ สถาบัน GIT เร่งจัดทำแผนการดำเนินงาน ให้สอดรับกับแผนการปฏิบัติงาน ประจำปี 2561 ได้แก่ การเพิ่มศักยภาพและสร้างตลาดให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้เป็นสากลและเพิ่มช่องทางการตลาด การสร้างภาพลักษณ์ (Country Image) ของประเทศไทยเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับโลก และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งเรื่องคุณภาพมาตรฐานการพัฒนาการตลาดยุคใหม่ผ่านระบบออนไลน์ (Digital Marketing/ E- Commerce) การเพิ่มขีดความสามารถวิจัยและนวัตกรรมด้านอัญมณีและเครื่องประดับอย่างครบวงจร รวมถึงการเป็นหน่วยงานกลางอย่างมืออาชีพ ในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งบูรณาการรับกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน และการลงไปช่วยพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเสียส่วนใหญ่ราวร้อยละ 80 โดยสถานการณ์ส่งออกของประเทศในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2560 ที่ผ่านมาสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับยังคงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 3 ของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 5.55 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าโดยรวม มีมูลค่าส่งออกรวม 12,039.02 ล้านเหรียญสหรัฐ (409,237.62 ล้านบาท) ปรับตัวลดลงร้อยละ 10 ขณะที่มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำขยายตัวได้เกือบร้อยละ 2 และมีการส่งออกทับทิมด้วยมูลค่า 339 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 28 ส่วนไพลิน มีมูลค่าส่งออก 316 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตได้เกือบร้อยละ 20 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการส่งออกไทย ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมาไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอันดับ 13 ของโลก และคาดว่าในปี 2561 และ 2562 มีแนวโน้มที่จะส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับได้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับโครงการเด่นๆ ที่มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ดำเนินการเร่งด่วน ในปี 2561 นั้น อาทิ
1. การพัฒนาผู้ประกอบการใน 6 ภูมิภาค โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ เห็นความสำคัญด้าน การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยมอบหมายให้สถาบันทำการลงพื้นที่ ดำเนินงานและติดตามประเมินผล ตามแผนการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในส่วนภูมิภาค สถาบันฯ ส่งทีมงานลงพื้นที่ติดตามใกล้ชิด เริ่มจากตำบลด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดที่มีเอกลักษณ์ด้านอัญมณีและเครื่องประดับ อาทิ สุโขทัย น่าน เชียงใหม่ สุรินทร์ จันทบุรี ตราด และเพชรบุรี ทั้งนี้ เพื่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับสามารถผลิตและออกแบบสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับได้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และตรงความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ โดยต่อจากนี้ให้สถาบันฯ เร่งออกแบบและจัดทำหลักสูตรด้านอัญมณีและเครื่องประดับที่ให้ความรู้ แบบครบวงจรทั้งด้านการผลิต การออกแบบทั้งภาคทฤษฎีและปฎิบัติจริง โดยเน้นให้ผู้เรียนนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ ผลงานหรือชิ้นงานที่ได้จะถูกนำมาจัดแสดงและจำหน่ายใน Museum Gallery และ Gallery Shop ของสถาบัน รวมทั้งให้ประสานกับกรมพัฒนาธุรกิจฯ เพื่อต่อยอดด้านการบริหารจัดการ E-Commerce และประสานกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านการตลาดอย่างเป็นระบบ รวมทั้งประสานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำให้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอัญมณีและเครื่องประดับต่อไปอย่างยั่งยืน
2. Gems & Jewelry Training Institute เน้นให้สถาบันที่เน้นการเรียนการสอนทั้งด้านเทคนิค การผลิต การออกแบบ และการสร้างแบรนด์ และยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเจียระไนเพชร พลอยที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยสอนตั้งแต่ระดับช่างฝืมือ พนักงานขาย ไปจนถึงผู้ประกอบการ
3. แผนยกระดับคุณภาพและมาตรฐานโลหะมีค่า เช่น ทอง เงิน แพลทินั่ม ฯลฯ โดยวิธีการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่า และการนำระบบ Hallmark มาใช้ในประเทศไทย โดยการสมัครใจ พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศเพื่อเพิ่มคุณภาพในตัวเครื่องประดับ ซึ่งจะทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกเครื่องประดับมากยิ่งขึ้น Hallmark เป็นตราสัญลักษณ์ที่ตอกหรือประทับ ลงบนสินค้า เพื่อแสดงค่าความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่า เป็นมาตรการสากลที่สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อ ตราที่ประทับนี้ประกอบไปด้วยตราหน่วยงานกลาง ซึ่งก็คือ GIT, ตราความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่า และตราของผู้ผลิต
4. การรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับทั่วประเทศ ว่าแต่ละ Cluster มีจำนวนผู้ผลิต ผู้ค้าเท่าใด อยู่ที่ไหนบ้าง เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลาง ของประเทศ โดยจะเริ่มต้นจากจันทบุรีก่อนเพื่อเป็นการบูรณาการร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อจัดให้เป็น ๑ ในเส้นทางการท่องเที่ยว อัญมณีและเครื่องประดับของไทย
นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อว่า “การที่เข้าเยี่ยมชม GIT ครั้งนี้ สืบเนื่องจาก GIT มีผลงานที่โดดเด่น และมีส่วนช่วยในการผลักดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอย่างมาก ซึ่งในต้นปีงบประมาณที่ผ่านมา สถาบันก็ได้มีการจัดการประชุม งาน World Jewelry Confederation : CIBJO Congress 2017 ซึ่งถือว่าเป็นการประชุมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับวงการอัญมณีและเครื่องประดับโลก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-7 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ โดยภายในงานได้จัดให้มีการจัดงาน World Ruby Forum ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมจะได้อัพเดททุกเรื่องราว ในทุกแง่มุมของอัญมณีและเครื่องประดับ ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ผ่านประสบการณ์ของนักวิชาการ อัญมณี นักธุรกิจชั้นแนวหน้า ของโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจากนานาประเทศ ซึ่งการเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมนั้น ถือได้ว่าสำคัญในการแสดงให้เห็นความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านอัญมณีและเครื่องประดับของโลกและสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทย
อีกทั้งสถาบัน ยังมีการจัดทำโครงการ Buy With Confidence หรือ โครงการซื้อด้วยความมั่นใจ ที่จะเป็นส่วนช่วยให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับที่ได้มาตรฐาน และสมราคามากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาทางด้านการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในกลุ่มของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยขณะนี้ได้มีจัดทำโครงการเพื่อต่อยอดในการพัฒนาให้ดำเนินการในส่วนของ E-Buy With Confidence ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าอัญมณีได้ผ่านระบบออนไลน์อีกด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ดำเนินการรวบรวมปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ตั้งแต่ต้นน้ำ- ปลายน้ำ เพื่อนำเสนอ ไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อหาแนวทางการแก้ไข และเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”
ข่าวเด่น