การส่งออกของไทยส่งท้ายปี 2560 ยังทำสถิติปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งปีโต9.9%สูงสุดในรอบ 6 ปี ส่วนปี 2561 สำนักวิจัยคาดโต 4.5-5.0%
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)เปิดเผยถึงอัตราการส่งออกในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 อยู่ที่ 8.6% หรือคิดเป็นมูลค่า 19,741 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการส่งออกขยายตัวได้ดีในทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะตลาดอินเดีย และตลาดCLMV มีมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับการส่งออกรายสินค้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 โดยเฉพาะข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป มีการขยายตัวในระดับสูงจากด้านราคาเป็นหลัก สำหรับกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยสินค้าที่มีการขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
ทั้งนี้การส่งออกทั้งปี 2560 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 236,694 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราขยายตัวที่ 9.9% สูงสุดในรอบ 6 ปี โดยสินค้าสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกี่ยวเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ยางพารา โทรศัพท์ ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่การส่งออกไปตลาดสำคัญ ขยายตัวต่อเนื่องเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป อาเซียน และจีน ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2560
สำหรับแนวโน้มปี 2561 คาดว่า จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของประเทศเศรษฐกิจในเอเชีย นอกจากนี้ทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร และราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่ SCB EIC คาดมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2561 น่าจะขยายตัวที่ 5.0% ตามแนวโน้มการเติบโตของภาคการผลิตโลก ประกอบกับราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงหลักของผู้ส่งออกไทยในขณะนี้คือ ค่าเงินบาทที่ในปัจจุบันแข็งค่าขึ้นแล้วกว่า 11.1% นับตั้งแต่ต้นปี 2560 ปัจจัยดังกล่าวจะกระทบต่อรายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกไทย ในขณะเดียวกัน ดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) ในเดือน ธ.ค. 2017 ที่แข็งค่าขึ้นกว่า 5.2%เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ก็สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันด้านอัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้า
ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกและนำเข้าสินค้าไทยตลอดทั้งปี 2561 ไว้ที่ 4.5% และ 8.0% โดยในช่วงที่เหลือของปี 2561 ต้องติดตามประเด็นการต่ออายุ GSP การกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ตลอดจนค่าเงินบาทที่จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ฯ จากปัจจัยทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ ท่ามกลางปัจจัยพื้นฐานจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงต่อเนื่องในปี 2561 ที่ราว 9% ต่อจีดีพี
ข่าวเด่น