เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Butterfly effect : ผลกระทบจากการปะทะในคาบสมุทรเกาหลีต่อเศรษฐกิจไทย


ความตึงเครียดระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรเป็นความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของโลก แม้ในปัจจุบันความขัดแย้งจะจำกัดแค่การข่มขู่  

สงครามในคาบสมุทรเกาหลียังเป็นสถานการณ์ที่ไม่ควรมองข้าม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือประกาศความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ข้ามทวีปติดต่อกันถึงสองลูก ได้แก่ Hwasong-14 และ Hwasong-15 ซึ่งมีพิสัยไกลถึงชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา การพิพาทในคาบสมุทรเกาหลีจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นและอาจก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลซึ่งสามารถสร้างแรงกระเพื่อมลูกใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้  

 
วิจัยกรุงศรีมองว่า หากความขัดแย้งยกระดับไปเป็นการปะทะจริง สงครามในคาบสมุทรเกาหลีอาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้หยุดชะงักและส่งผลต่อการผลิตและการขนส่งของโลกและไทยอย่างมีนัยสำคัญ เปรียบได้กับผีเสื้อขยับปีก แม้มีโอกาสน้อยแต่อาจสร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลได้

 สงครามในคาบสมุทรเกาหลีจะส่งผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจโลกผ่านการชะงักงันของเศรษฐกิจเกาหลีเหนือ แต่ผลกระทบจะมีจำกัดเพราะมูลค่าการส่งออกของเกาหลีเหนือคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.02 ของมูลค่าการค้าโลก ขณะที่มูลค่าการส่งออกจากไทยไปเกาหลีเหนือคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.02 ของการส่งออกรวมของไทยในปี 2559

สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือผลกระทบทางอ้อมผ่านเศรษฐกิจเกาหลีใต้ การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเกาหลีใต้จะสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง เพราะเกาหลีใต้เป็นผู้เล่นคนสำคัญทั้งในห่วงโซ่การผลิตและการขนส่งของโลก เมื่อพิจารณาจากมูลค่าวัตถุดิบที่นำเข้าหรือมูลค่าเพิ่มที่เกาหลีใต้ผลิตและส่งออกไปยังต่างประเทศ เกาหลีใต้จึงเป็นศูนย์กลางของสายพานการผลิตซึ่งทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตต้นน้ำและปลายน้ำ และยังเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของโลก โดยท่าเรือปูซานรองรับตู้คอนเทนเนอร์จำนวนกว่า 19.5 ล้านตู้ในปี 2558 สูงเป็นอันดับที่หกของโลก ดังนั้นการขาดหายไปของเกาหลีใต้จะทำให้การค้าโลกหยุดชะงักลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

จากตารางปัจจัยการผลิต-ผลผลิตโลกที่จัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development, OECD) ไทยมีความเชื่อมโยงทางการค้ากับเกาหลีใต้ผ่านการส่งออกสินค้าทางอ้อม โดยไทยส่งออกวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไปผลิตต่อในประเทศที่สามก่อนส่งต่อไปยังเกาหลีใต้ ซึ่งหากคิดในรูปของมูลค่าเพิ่มจะมีมูลค่าส่งออกสูงเป็นอันดับที่ 4 จากคู่ค้าของไทยทั้งหมด ทั้งนี้ ภาคการผลิตไทยที่มีความเชื่อมโยงกับเกาหลีใต้ในระดับสูง ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ กระดาษ สินค้าเกษตร โลหะมูลฐานและเคมีภัณฑ์ โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งสินค้าขั้นกลางผ่านจีน อย่างไรก็ตาม ในส่วนการนำเข้า ไทยพึ่งพาวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากเกาหลีใต้เพียงร้อยละ 1.3 ของการนำเข้ารวม และส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมโลหะมูลฐานซึ่งสามารถใช้วัตถุดิบภายในประเทศทดแทนได้

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า การชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเกาหลีใต้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกผ่าน 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ 1) การลดลงของความต้องการซื้อสินค้าขั้นสุดท้ายของเกาหลีใต้ และ 2) การชะงักงันของการผลิตและการขนส่งซึ่งรวมถึงสินค้าที่เกาหลีใต้ผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศและเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ จากการศึกษาพบว่า ไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ หากเกาหลีใต้ไม่สามารถผลิตหรือขนส่งสินค้าได้เป็นเวลา 1 ไตรมาส จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีของไทยลดลงร้อยละ 1.8 หรือทำให้ผลผลิตมวลรวม (GDP) หายไปร้อยละ 0.5 อย่างไรก็ดี ไทยจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศผู้ส่งออกสำคัญรายอื่นในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ไต้หวัน มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีความเชื่อมโยงทางการค้ากับเกาหลีใต้สูงกว่าไทย (รูปที่ 2)

 
ในระดับอุตสาหกรรม ภาคการผลิตไทยที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์กระดาษ เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาค ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีความเชื่อมโยงกับเกาหลีใต้ค่อนข้างสูงผ่านการส่งออกสินค้าขั้นกลางผ่านจีนและมาเลเซีย และเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งตลาดต่างประเทศเป็นหลักจึงอาจได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง สำหรับอุตสาหกรรมกระดาษ เกาหลีใต้เป็นผู้นำเข้าหลักของไทยโดยคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 17 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กระดาษของไทยในปี 2559 เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่ในไทยเป็นบริษัทเกาหลีใต้ที่เข้ามาลงทุนเพื่อผลิตและส่งสินค้ากลับยังประเทศแม่

สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรองลงมา ได้แก่ โลหะขั้นมูลฐาน สินค้าเกษตร และเคมีภัณฑ์ แม้อุตสาหกรรมโลหะขั้นมูลฐานมีความเชื่อมโยงทางการค้ากับเกาหลีใต้ค่อนข้างสูง แต่ยังสามารถกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดภายในประเทศรวมถึงตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงได้ เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น สำหรับภาคเกษตรกรรม ไทยส่งสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพาราไปแปรรูปยังจีนก่อนส่งต่อไปยังเกาหลีใต้ โดยจีนยังส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปไปยังประเทศอื่นๆ อีกกว่า 200 ประเทศ จึงสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง สำหรับอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์โดยเฉพาะผู้ผลิตไฮโดรคาร์บอนมีการพึ่งพาคำสั่งซื้อจากเกาหลีใต้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น จึงอาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ม.ค. 2561 เวลา : 20:09:13
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 8:42 am