รมว.พาณิชย์ หารือเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ย้ำความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเยอรมนีที่แน่นแฟ้นและเกื้อหนุนกันมายาวนาน พร้อมหาแนวทางขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะการลงทุนที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูงที่เยอรมนีมีความเชี่ยวชาญ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้พบหารือกับเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย (นายเพเทอร์ พรือเกิล) เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2561 โดยเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีฯ ได้แสดงความยินดีในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะการลงทุนที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูงที่เยอรมนีมีความเชี่ยวชาญ
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์อันดีมายาวนาน การค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชนที่มีความเข้มแข็ง โดยเยอรมนีเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในไทย ในขณะเดียวกันบริษัทของไทยหลายราย ได้เข้าไปลงทุนในเยอรมนีเช่นกัน ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเยอรมนีจึงเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและเกื้อหนุนกันมาโดยตลอด นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า FTAไทย-สหภาพยุโรป เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้การค้าและการลงทุนระหว่างไทยและเยอรมนีขยายตัว พร้อมทั้งยินดีที่สหภาพยุโรปออกมติคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560 ให้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยในทุกระดับอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ไทยและเยอรมนีไม่ได้มีเพียงความสัมพันธ์ทางการค้า แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเยอรมนียังเป็นความสัมพันธ์ที่ครอบคลุมการลงทุนและความร่วมมือในหลายมิติ อาทิ ยานยนต์ อาชีวศึกษา การวิจัยและพัฒนา การเกษตร และโครงสร้างพื้นฐาน โดยฝ่ายไทยเห็นว่าเยอรมนีเป็นประเทศที่มีวิทยาการความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นประเทศต้นแบบของอุตสาหกรรม 4.0 สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ที่เน้นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation) จึงได้เชิญชวนให้นักธุรกิจเยอรมนีมาลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทย ซึ่งเป็นเขตส่งเสริมการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งนี้ ภาคเอกชนของเยอรมนีได้แสดงความสนใจจะลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ Hybrid พร้อมทั้งจะมีความร่วมมือด้านเกษตรและด้านอื่นๆ เพื่อช่วยยกระดับสินค้าเกษตรของไทยให้พัฒนาไปสู่สินค้าเกษตรที่เพิ่มมูลค่า (value-added product) อันจะเป็นการช่วยยกระดับรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรไทย
ในปี 2559 เยอรมนีเป็นคู่ค้าอันดับ 13 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในสหภาพยุโรป โดยมีมูลค่าการค้ารวม 10.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 5.19 โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปเยอรมนี 4.47 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าจากเยอรมนีมูลค่า 5.86 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไทยนำเข้าสินค้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น การลงทุนโดยตรงจากเยอรมนี ปี 2559 มูลค่า 3.39 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ไทยไปลงทุนในเยอรมนีมีมูลค่า 1.76 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ข่าวเด่น