กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยมูลค่าการลงทุนธุรกิจด้านสุขภาพของผู้ประกอบธุรกิจไทยเพิ่มสูงสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากสังคมกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย และคนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ ‘Health Care’ กลายเป็นธุรกิจยอดฮิตตั้งแต่ปลายปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และนโยบายการส่งเสริมธุรกิจบริการด้านสุขภาพของรัฐบาล ที่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนของผู้ประกอบการ SMEรวมถึงสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจให้ครบห่วงโซ่อุปทาน (SupplyChain) โดยการมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ และรวมกลุ่มกันเป็น Cluster เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ และทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับกระแสรักสุขภาพ ทำให้ธุรกิจบริการด้านสุขภาพต่างๆ มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตลาด “บริการสุขภาพ” หรือ “Health care” ถือเป็นธุรกิจที่น่าจับตาในเวลานี้ ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจบริการด้านสุขภาพของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างสอดคล้องกับตลาดบริการด้านสุขภาพทั่วโลก การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุนับเป็นโอกาสที่น่าสนใจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในการสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่ง เพื่อรองรับความต้องการ (Demand) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต
เมื่อพิจารณาภาพรวมการจัดตั้งธุรกิจบริการด้านสุขภาพของไทย พบว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนด้านต่างๆ ที่ส่งผลให้ธุรกิจบริการด้านสุขภาพได้รับความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว การหันมาใส่ใจสุขภาพ นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมธุรกิจบริการด้านสุขภาพให้สามารถแข่งขันในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็ง ประกอบกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมด้านสุขภาพที่มีมาตรฐาน สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทยมีจำนวน 4,086 ราย แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 3,381 รายคิดเป็นร้อยละ 83 ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 670 ราย คิดเป็นร้อยละ 16 บริษัทมหาชนจำกัด 35 ราย คิดเป็นร้อยละ 1
สำหรับมูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลของธุรกิจบริการด้านสุขภาพในประเทศไทยที่คงอยู่ปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 117,908 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560)โดยมีสัดส่วนการลงทุนดังนี้ มูลค่าการลงทุนของคนไทยอยู่ที่ 116,771 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99 และมูลค่าการลงทุนของต่างชาติอยู่ที่ 1,137 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 104 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.09 รองลงมา คือ ฮ่องกง มูลค่า 93 ล้านบาท คิดเป็น 0.08 และสิงคโปร์ มูลค่า 85 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.07 ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ คือ กรุงเทพมหานคร มูลค่าการลงทุน 60,936 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 52 รองลงมา คือ จังหวัดที่เป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ
นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงผลประกอบการและอัตราส่วนทางการเงิน พบว่าธุรกิจบริการด้านสุขภาพมีผลประกอบการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 10.87 เป็นร้อยละ 11.93 ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนจากสินทรัพย์ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์และการบริหารสภาพคล่อง
อธิบดี กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศจุดหมายปลายทางของภูมิภาคเอเชียที่ได้รับความนิยมจากนานาประเทศของการให้บริการด้านสุขภาพ ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการ SME จะต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาการให้บริการ และสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด รวมถึงต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ เพื่อยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพที่ครบวงจร และสามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมของลูกค้าที่ไม่หยุดนิ่งเช่นกัน
ข่าวเด่น