ก.ล.ต. สนับสนุนให้มีผู้ให้บริการวางแผนทางการเงิน (wealth advisor) ที่มีคุณภาพ ประชาชนเข้าถึงได้ ส่งเสริมการใช้ฟินเทคเป็นเครื่องมือช่วยวางแผนทางการเงิน และเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดแนวทางการกำกับดูแลไอซีโอที่เป็นหลักทรัพย์
นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการมีผู้ให้บริการวางแผนทางการเงินสำหรับประชาชน ต้องการให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินให้เป็นทักษะชีวิต เนื่องจากสภาพปัจจุบันที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแต่มีเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณ อีกทั้งผลตอบแทนจากการลงทุนของผู้ลงทุนยังไปไม่ถึงเป้าหมายหรือไม่เพียงพอต่อความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินในระยะยาว ก.ล.ต. จึงเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์หลักของปีนี้ สนับสนุนผู้ให้บริการด้านการให้คำแนะนำและวางแผนทางการเงินที่ประชาชนเข้าถึงได้และมีคุณภาพ ส่งเสริมการใช้ฟินเทคเพื่อตอบโจทย์และเป็นเครื่องมือช่วยวางแผนทางการเงิน รวมถึงสร้างความตระหนักแก่ประชาชนจนนำไปสู่การปฏิบัติจริง
สำหรับการสนับสนุนให้เกิดผู้ให้บริการด้านการให้คำแนะนำและวางแผนทางการเงิน ก.ล.ต. จะแก้เกณฑ์เพื่อดึงดูดและลดอุปสรรคแก่ผู้ประกอบการทั้งรายปัจจุบันและรายใหม่ เพื่อให้มีบริการด้านการให้คำแนะนำและวางแผนทางการเงินมากขึ้น เบื้องต้นเห็นว่า ผู้ให้บริการวางแผนทางการเงินอย่างครบวงจร จะประกอบด้วย 5 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ (1) การสำรวจและรู้จักตัวตนของลูกค้า และการตรวจสุขภาพทางการเงิน โดยให้ลูกค้าทำแบบทดสอบความเสี่ยงที่ยอมรับได้และระบุเป้าหมายที่ต้องการ (2) การกำหนดแผนจัดสรรการลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้และเป้าหมายที่ลูกค้ากำหนด (3) การลงทุนให้เป็นไปตามแผนจัดสรรการลงทุน โดยคัดเลือกตราสารที่เหมาะสม (4) การติดตามและปรับสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงและเป้าหมายการลงทุน และ (5) การรายงานภาพรวมการลงทุนของลูกค้า ซึ่งหากผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้บริการได้ครบทั้ง 5 ส่วนดังกล่าว น่าจะช่วยตอบโจทย์แก่ประชาชนในการวางแผนทางการเงินในระยะยาว เพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดีได้”
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ผลการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลไอซีโอที่เป็นหลักทรัพย์ ภายหลังให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านหลากหลายช่องทางเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน โดยสิ้นสุดระยะเวลารับฟังความคิดเห็นไปเมื่อ 22 มกราคมที่ผ่านมานั้น ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการกำกับดูแลไอซีโอที่เป็นหลักทรัพย์โดย ก.ล.ต. ซึ่งจะเริ่มจากการทดลองเปิดช่องทางไอซีโอที่มีลักษณะเป็น “ส่วนแบ่งร่วมลงทุน” ซึ่งไม่ใช่หลักทรัพย์ที่มีอยู่แล้วอย่างหุ้นหรือตราสารหนี้ รวมทั้งเห็นด้วยกับการกำหนดให้ต้องระดมทุนดังกล่าวผ่าน ไอซีโอ พอร์ทัล ที่ ก.ล.ต. ยอมรับ โดยเปิดให้เสนอขายไอซีโอต่อผู้ลงทุนสถาบัน กิจการร่วมลงทุน นิติบุคคลร่วมลงทุน และผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ส่วนกรณีผู้ลงทุนรายย่อย ก.ล.ต.ได้รับความเห็นหลากหลายเกี่ยวกับความเหมาะสมของการจำกัดวงเงินลงทุนใน ICO ซึ่ง ก.ล.ต. จะนำความเห็นจากทุกฝ่ายมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป”
ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะนำเสนอผลการรับฟังความเห็นนี้ต่อคณะกรรมการกำกับตลาดทุนและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางในการกำกับดูแลที่ชัดเจนภายในไตรมาส 1 นี้
“ก.ล.ต. ขอย้ำว่า เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการกำกับดูแลไอซีโอ ตลอดจนไอซีโอส่วนใหญ่เป็นธุรกรรมข้ามประเทศ ประชาชนจึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองและการเยียวยาตามกฎหมาย นอกจากนี้ ประชาชนควรทำความเข้าใจลักษณะโครงการที่มาระดมทุนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน และควรตระหนักว่า การลงทุนในไอซีโอเป็นการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพซึ่งแม้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงหากโครงการประสบความสำเร็จ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเสียเงินลงทุนทั้งจำนวนได้เช่นกัน และยังอาจมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาและการขาดสภาพคล่องของดิจิทัลโทเคน ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ รวมทั้งการถูกฉ้อโกงหรือหลอกลวงจากผู้มีเจตนาทุจริตด้วย” นายรพีกล่าว
ข่าวเด่น