สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง คืนวันที่ 31 มกราคม 2561 เป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่พิเศษสุดอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเกิดในช่วงที่ดวงจันทร์โคจรใกล้โลกและตรงจันทร์เพ็ญครั้งที่สองของเดือน จะเห็นจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐมีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หรือเรียกว่า “ซูเปอร์บลูบลัดมูน”
ในประเทศไทยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:30 น. เป็นต้นไป เวลาคราสเต็มดวง 19:51-21:07 น. และสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 23:08 น. โชคดีที่ท้องฟ้าเป็นใจเห็นชัดในหลายพื้นที่ อาทิ เชียงใหม่ สงขลา กรุงเทพมหานคร สุพรรณบุรี พิษณุโลก ชุมพร สมุทรสาคร นครราชสีมา ปทุมธานี ราชบุรี อุบลราชธานี ยะลา พัทลุง สระบุรี นนทบุรี กาฬสินธุ์ สมุทรปราการ กาญจบุรี ฯลฯ ประชาชนแห่ชมทุกจุดสังเกตการณ์ ที่ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา และลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา สงขลา
จันทรุปราคาเต็มดวงจะกลับมาให้คนไทยได้ชมกันอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นของวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 คราสเต็มดวงในช่วงเวลา 02:30-04:13 น. นอกจากนี้ในคืนวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ยังเป็นคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งไกลโลกที่สุดในรอบปีที่ระยะห่างประมาณ 406,086 กิโลเมตร คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย หรือเรียกว่า “Micro Full Moon”
ข่าวเด่น