สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดพิธีเปิดหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ในวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอย่างเป็นทางการ ณ หอดูดาวเฉลิม พระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ตำบลวังเย็น อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา
2 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 19.10 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ตำบลวังเย็น อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และคณะกรรมการจัดงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา และผู้แทนสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัย
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงพลับพลาพิธี ทรงประทับพระราชอาสน์ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร นายชูชาติ แพน้อย ที่ปรึกษาหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กราบบังคมทูลรายงานและกราบบังคมทูลเบิกผู้แทนทีมชนะเลิศการประกวดวาดภาพกำแพงลานดูดาวในหัวข้อ “ดาราศาสตร์สร้างประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างไร” จำนวน 3 ราย แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และประชาชนทั่วไป จัดประกวดไปเมื่อวันที่ 20 - 21 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา และเบิกผู้มีอุปการคุณเข้ารับพระราชทานของที่ระลึก จำนวน 67 ราย
จากนั้น เสด็จฯ ออกจากพลับพลาพิธีไปยังแท่นกดปุ่มไฟฟ้า ทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายชื่อ “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา” และเสด็จพระราชดำเนินเข้าอาคารนิทรรศการ บริเวณโถงทางเข้าจัดทำเป็นเพดานดาวจำลองตำแหน่งดาวเคราะห์ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเป็นวันกำหนดเปิดหอดูดาวฯ แห่งนี้ ทรงลงพระนามาภิไธยในแผ่นโลหะ จากนั้นทอดพระเนตรนิทรรศการทางดาราศาสตร์ จัดแสดงในรูปแบบชุดการเรียนรู้ดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้เสมือนจริง ประกอบด้วยนิทรรศการทั้งหมด 14 โซน อาทิ เครื่องตรวจจับรังสีคอสมิค แสงและสเปกตรัม การทำงานของกล้องโทรทรรศน์ การเกิดเฟสดวงจันทร์ หลุมดวงจันทร์ การหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์แก๊ส น้ำหนักบนดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ อุกกาบาต ฤดูกาลและการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ เป็นต้น จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินเข้าห้องฉายดาว ทอดพระเนตรการสาธิตการใช้งานท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร มุมมอง 360 องศา คมชัดเสมือนจริง และภาพยนตร์ “150 ปี สุริยุปราคาหว้ากอ”
ต่อมา เสด็จพระราชดำเนินออกจากห้องฉายดาวไปยังสวนพฤกษศาสตร์หอดูดาว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (มหาชน) จัดสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติควบคู่ไปกับดาราศาสตร์ ทรงปลูกต้นสัก จำนวน 1 ต้น และเสด็จฯ ไปยังศาลามูลนิธิสันติธรรมาธร ทรงวางพวงมาลัยสักการะพระพุทธโสธรจำลอง ทรงคม และเสด็จฯ ไปยังเต็นท์นิทรรศการ เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการยุววิจัยดาราศาสตร์ ได้แก่ การหาขนาดของดวงอาทิตย์จากการเคลื่อนที่ของสถานีอวกาศนานาชาติผ่านหน้าดวงอาทิตย์ การศึกษาสมบัติของดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างองศาของดวงอาทิตย์กับการขันของไก่ และการศึกษาการเปรียบเทียบการเกิดแกรนูลบนดวงอาทิตย์บริเวณที่มีและไม่มีจุด Sunspot บนดวงอาทิตย์ กิจกรรมชุมนุมดาราศาสตร์ ได้แก่ สร้างสื่อดาราศาสตร์สำหรับคนตาบอด และนักสื่อสารดาราศาสตร์น้อย โครงการภายใต้การดำเนินงานของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินออกจากเต็นท์นิทรรศการไปยังอาคารดูดาว ผ่าน Planet Walk ทอดพระเนตรแบบจำลองดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ มีอาคารฉายดาวเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ และมีดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ รายล้อม พร้อมทอดพระเนตรภาพวาดกำแพงลานดูดาว ศิลปะภาพวาดดาราศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงอาคารดูดาว ทรงทอดพระเนตรทัศนียภาพมุมสูงของหอดูดาวฯ อาทิ สโตนเฮนจ์จำลอง สัมราฏยันตระจำลอง และลานดูดาว สำหรับจัดกิจกรรมดูดาวกลางแจ้ง พื้นลานดูดาวได้จัดทำเป็นสัญลักษณ์กลุ่มดาวหมีใหญ่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทราอีกด้วย จากนั้นทอดพระเนตรการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กบริเวณระเบียงดาว และเสด็จฯ ทอดพระเนตรการทำงานของกล้องโทรทรรศน์หลัก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ภายในโดมไฟเบอร์กลาสทรงคล้ายเปลือกหอย เปิดออกได้ 180 องศา สังเกตท้องฟ้าได้รอบทิศทาง ทรงบันทึกภาพ เนบิวลารันนิ่งแมน (Running Man Nebula, NGC1977) หนึ่งในเนบิวลากลุ่มดาวนายพราน อยู่ห่างออกไป 1,300 ปีแสง จัดเป็นเนบิวลาเปล่งแสง มีแสงสว่างในตัวเองจากการเรืองแสงของอะตอมของไฮโดรเจน เนื่องจากได้รับความร้อนจากดาวฤกษ์ภายในเนบิวลา บันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ณ ศูนย์ควบคุมและรายงานดอยอินทนนท์
หลังจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินลงชั้น 1 ทางบันได ออกจากอาคารดูดาว ไปยังลานดูดาว ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีประชาชนชาวฉะเชิงเทราร่วมเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่นกว่า 500 คน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวฉะเชิงเทราและสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นล้นพ้น จากนั้น เสด็จประทับรถยนต์พระที่นั่งกลับวังสระปทุม เวลาประมาณ 22.00 น.
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา เป็นหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบ แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ 999 ตำบลวังเย็น อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ 36 ไร่ ที่วัดวังเย็นมอบให้จัดสร้างหอดูดาวฯ มีเป้าหมายหลักให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับประชาชนและสถานศึกษาในท้องถิ่น สนับสนุนการบริการวิชาการด้านดาราศาสตร์แก่ชุมชน สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญของภูมิภาคอีกด้วย เปิดบริการวันอังคาร - อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล ค่าธรรมเนียม นักเรียน/นักศึกษา 30 บาท บุคคลทั่วไป 50 บาท ส่วนนิทรรศการดาราศาสตร์ไม่เสียค่าธรรมเนียม และมีกิจกรรมดูดาว (NARIT Public Night) ทุกวันเสาร์ 18.00 - 22.00 น. สอบถามเพิ่มเติม โทร. 084-0882264 หรือ www.NARIT.or.th , www.facebook.com/NARITPage
ข่าวเด่น