“สนธิรัตน์” ลงนาม MOU ร่วม 4 หน่วยงาน ผลักดันไทยเป็นมหานครผลไม้ของโลก เตรียมร่วมมือกำหนดมาตรฐานผลไม้ สร้างเครือข่ายผู้ผลิต ตลาดรวบรวมสินค้า และสร้างช่องทางการตลาดรูปแบบต่าง ๆ พร้อมเดินหน้าหาตลาดรองรับผลผลิตล่วงหน้า ดึงผู้ผลิต ผู้ซื้อ ทั้งในและต่างประเทศ ลงนาม MOU ร่วมกันด้วย
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ที่สหกรณ์การเกษตรมะขาม อ.มะขาม จ.จันทบุรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสักขีพยานการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลักดันประเทศไทยให้เป็นมหานคร ผลไม้ของโลก ระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ หอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยบูรพา โดยจะร่วมกันกำหนดมาตรฐานผลไม้ไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ThaiGAP และ Q-GAP ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างเครือข่ายผู้ผลิต และเครือข่ายตลาด นำไปสู่การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าผลไม้ของไทย ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะมีผลทันที หลังจากที่ได้ลงนามใน MOU ระหว่างกัน ซึ่งนายสนธิรัตน์ แสดงความเชื่อมั่นว่า จากศักยภาพในการเพาะปลูกผลไม้ที่มีความหลากหลายและรสชาติโดดเด่นเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งภายในและต่างประเทศ เมื่อผนวกเข้ากับความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสามารถยกระดับคุณภาพและราคาผลไม้ของไทยได้สำเร็จ และที่สำคัญมั่นใจว่าจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นมหานครผลไม้ของโลกได้แน่นอน เพราะมีการลงนามความตกลงที่ครอบคลุมไปถึงการเชื่อมโยงตลาดผลไม้ ระหว่างผู้ผลิตผลไม้ในภาคตะวันออกและในภูมิภาคต่าง ๆ กับผู้รับซื้อ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ชาวสวนผลไม้มีตลาดรองรับที่แน่นอน และยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เพราะใน MOU ได้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพผลไม้ของไทยเอาไว้ ตลอดจนมีความร่วมมือในการรวบรวม การขนส่ง และการกระจายสินค้า ทั้งในประเทศและการส่งออกด้วย
อย่างไรก็ตาม นอกจากจะมีการทำข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวแล้ว ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดจันทบุรีครั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนยุทธ์ศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจร ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยมีเป้าหมายผลักดันประเทศไทยเป็นมหานครผลไม้ของโลก ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
1) มุ่งเน้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตผลไม้เมืองร้อน สดและแปรรูป ให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยกำหนดมาตรฐานการผลิตและการค้าผลไม้ เกรดพรีเมี่ยมและเกรดรอง และส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ตลอดจนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผลไม้ของไทย
2) การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายให้มีการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ พร้อมขยายช่องทางไปถึงตลาดออนไลน์ การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตลาดชายแดน
3) สนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะด้านการเงินของผู้ประกอบการค้าผลไม้ของไทย โดยจัดหาสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อเป็นเงินทุนให้ผู้ประกอบการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตผลไม้คุณภาพ
4) การประชาสัมพันธ์สินค้าผลไม้เมืองร้อนของไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งนอกจากจะมีการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างค่านิยมในการบริโภคผลไม้ในพื้นที่จังหวัดที่มีกำลังซื้อสูงหรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแล้ว ยังต้องส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศ และสร้างตราสินค้า หรือทำ Branding ด้วย
ข่าวเด่น