ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย. 61 และการปรับตัวแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลต่อการส่งออกของไทย
โดยน.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศ (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกตลอดปี 2560 แม้จะโตถึง 9.9% มูลค่าการส่งออกถึง 236,694 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปี 2561 ทาง สรท.มองว่ายังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาได้ไม่ต่ำกว่า 5.5% แต่คงต้องตามดูว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศที่ส่งผลต่อการส่งออกของไทย
ซึ่งผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทและการปรับขึ้นค่าแรง อาจส่งผลให้สูญเสียรายได้จากการส่งออก ประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 1.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้การส่งออกเติบโตลดลงเหลือ 3.5% ไม่ถึงเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 5.5% จากปี 2560 หรือมีมูลค่า 230,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนจีดีพีคาดว่าจะขยายตัว 4%
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. กล่าวว่า ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกกับประเทศเพื่อนบ้านเริ่มถดถอย หลังเผชิญปัญหาเงินบาทแข็งค่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ไม่พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบมากสุด โดยปี 2560 เงินบาทแข็งค่าไปแล้ว 11% และตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าอีก 2.45% ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า พบว่ามีเพียงค่าเงินของกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) อังกฤษ และมาเลเซียเท่านั้นที่แข็งค่ากว่าเงินบาท นอกนั้นค่าเงินอ่อนกว่าเงินบาททั้งสิ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้า
ดังนั้นสรท. จึงมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ สำหรับการแก้ไขปัญหาจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการแข็งค่าของเงินบาท ประกอบด้วย สรท.ขอเลื่อนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอออกไป 1 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ไปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มทักษะแรงงานฝีมือขั้นสูง ขั้นกลาง ให้มีความเชี่ยวชาญในการเรียนรู้เครื่องจักรและเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ, สรท.ขอขยายเวลามาตรการช่วยเหลือด้วยการลดหย่อนภาษี SME 1.15 เท่า จากให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ไปจนถึงสิ้นปี ให้เพิ่มเติมออกไปเป็น 2 ปี จนถึง 31 ธ.ค. 63, ลดเงินสมทบที่ผู้ประกอบการส่งออกต้องจ่ายให้กับประกันสังคมจาก 5% เหลือ 1-3% ในช่วงค่าเงินบาทมีความผันผวน ประกอบกับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 5-22 บาท ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นประมาณ 1.6-7.0%, รวมทั้งขยายเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่นำเข้าเครื่องจักรมาปรับปรุงและนำระบบดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตมาช่วยในการจัดการธุรกิจ จกาเดิม 3 ปี เป็นเวลา 5 ปี
สำหรับผู้ประกอบการที่นำเข้าเครื่องจักร สำหรับส่งเสริมและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยเป็นการลงทุนในเครื่องจักรทุกประเภททั้งในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ขอให้นำมาหักค่าเสื่อมได้ 2 เท่า ของมูลค่าเครื่องจักรที่ลงทุน, ลดภาษีนำเข้า เครื่องจักรแขนกล (Robot) เหลือ 0-5% เป็นเวลา 1 ปี
นอกจากนี้ รัฐบาลควรสนับสุน SME ด้วยการจัดหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนหรือแหล่งเงินทุนกู้ยืม Soft Loan โดยที่ไม่ต้องคืนเงินต้น ในช่วง Grace period ที่ยาวนานกว่าเงินกู้ปกติ เพื่อชดเชยในช่วงที่ปรับตัวกับค่าแรงและค่าเงินบาท, รัฐบาลต้องคุมต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการทั้ง Supply Chain เพื่อการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ใช่เพียงคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศเท่านั้น และรัฐบาลต้องมีการวางแผนล่วงหน้าและจัดทำแผนระยะยาวในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอนาคต ควรปรับให้สอดคล้องกับทักษะของแรงงาน โดยต้องมีใบประกาศรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานหรือมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพของแรงงานไทย เป็นต้น
ข่าวเด่น