พาณิชย์ชูกลยุทธ์ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ” กับอินเดีย จัดทัพนำภาคเอกชนเดินหน้าเจาะตลาดระดับรัฐ เตรียมเข้าร่วมงาน UP Investors Summit 2018 ณ รัฐอุตตรประเทศ และงาน Partnership Summit 2018 ณ รัฐ อานธรประเทศ พร้อมแสวงหาความร่วมมือผ่านกิจกรรมสำรวจตลาดและสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ ณ รัฐเตลังกาน่า และรัฐทมิฬนาฑู
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการเข้าร่วมงาน UP Investors Summit 2018ระหว่างวันที่ 20-26 กุมภาพันธ์ 2561 ณ เมืองลัคเนาว์ รัฐอุตตรประเทศ ว่าจะนำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงานดังกล่าว ตามคำเชิญของนายสาธิต มาฮานา (Mr. Satish Mahana) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมแห่งรัฐอุตตรประเทศ และจะเข้าร่วมงาน Partnership Summit 2018 ณ เมืองวิสาขปัทนัม รัฐอานธรประเทศ ตามคำเชิญของนายสุเรช พาบู (Mr. Suresh Prabhu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดีย นอกจากนี้จะนำคณะนักธุรกิจไทยเข้าพบมุขมนตรีแห่งรัฐอุตตรประเทศ รัฐเตลังกาน่า และรัฐอานธรประเทศ ตลอดจนสำรวจตลาดและสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในระหว่างการเยือนครั้งนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งผลักดันความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับอินเดียในระดับรัฐ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ (Strategic Economic Partnership) กับอินเดียของไทย
นางสาวชุติมา กล่าวเสริมว่า การนำเอกชนไทยสำรวจตลาดอินเดียระดับรัฐ จะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากอินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน ซึ่งด้วยขนาดประเทศและจำนวนประชากรทำให้อินเดียมีการบริโภคและความต้องการสินค้าและบริการที่แตกต่างกันในแต่ละรัฐ การเข้าร่วมงานประชุมที่ทั้ง 2 รัฐจัดขึ้นเพื่อแนะนำศักยภาพของรัฐและการสำรวจตลาดรัฐต่าง ๆ ของอินเดียครั้งนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าถึงผู้บริโภคชาวอินเดียในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกัน ยังเป็นโอกาสอันดีในการประชาสัมพันธ์และแสดงศักยภาพของไทยในการเป็นฐานการลงทุนและคู่ค้าที่สำคัญของอินเดียในอาเซียน โดยเฉพาะการเชิญชวนภาคเอกชนมาลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย ซึ่งจะสอดคล้องกับปัจจุบันที่อินเดียให้ความสำคัญกับนโยบายปฏิบัติการตะวันออก (Act East Policy) มุ่งเน้นการกระชับความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในทุกมิติกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน
นางสาวชุติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐที่ไปเยือนครั้งนี้ มีความสำคัญคือ รัฐอุตตรประเทศเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดในอินเดียและเป็นแหล่งเกษตรกรรมสำคัญ เช่น ข้าว และอ้อย โดยรัฐอุตตรประเทศอยู่ระหว่างการยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี IT และบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึง Business Process Outsourcing (BPO) ในภาคเหนือของอินเดีย เนื่องจากมีแรงงานฝีมือจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังตั้งอยู่บนจุดตัดของระเบียงอุตสาหกรรมสำคัญของอินเดียสองสายคือ ระเบียงอุตสาหกรรมกัลกัตตา-อัมริสสา และระเบียงอุตสาหกรรมเดลี-มุมไบ ซึ่งรัฐบาลอินเดียกำลังให้ความสนใจในการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ตลอดเส้นทางดังกล่าว รัฐอุตตรประเทศยังมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากมีพุทธศาสนสถานที่สำคัญอย่าง เมืองกุสินาราและเมืองสารนาถ ส่วนรัฐเตลังกาน่า รัฐอานธรประเทศ และรัฐทมิฬนาฑู ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของอินเดีย มีทำเลที่ตั้งไม่ห่างจากไทยมากนัก เอื้อต่อการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ของไทยสู่อินเดีย โดยรัฐเตลังกาน่าซึ่งเป็นรัฐใหม่ล่าสุดของอินเดีย มีอุตสาหกรรมหลัก คือ ยานยนต์ เหมืองแร่ สิ่งทอ และยา รวมทั้งเป็นหนึ่งในรัฐสำคัญที่ส่งออกสินค้าและบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มีพื้นที่ทำเกษตรกรรมเป็นบริเวณกว้าง สินค้าที่สำคัญ เช่น ฝ้าย อ้อย มะม่วง และยาสูบ ส่วนของรัฐอานธรประเทศ มีความโดดเด่นด้านการลงทุนจากต่างประเทศ และเป็นที่ตั้งของบริษัทระดับโลกหลายแห่ง เช่น Pepsi Isuzu Motors และ Colgate-Palmolive รวมทั้งบริษัทชั้นนำของไทยอย่าง ซีพี ได้มีการลงทุนด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่รัฐนี้ด้วย พร้อมกันนี้ คณะจะเดินทางสำรวจโอกาส ณ รัฐทมิฬนาฑู ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น Detroit of India ศูนย์อุตสาหกรรมรถยนต์และธุรกิจการเงินของอินเดีย ด้วยจุดแข็งด้านนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศและทำเลที่ตั้งที่เอื้อต่อการส่งออกไปยังตลาดยุโรป อเมริกา และแอฟริกา
ข่าวเด่น