ความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมประจำเดือนมกราคม 2561 ของกระทรวงพาณิชย์ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 35 เดือน สอดคล้องกับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทั่วไป และความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2561 ซึ่งสำรวจความเห็นจากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,578 คน ใน 77 จังหวัด ทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปัจจุบัน และอนาคตมีค่า 41.0 34.9 และ 45.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 35 เดือน สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น แม้จะยังอยู่ในช่วงความไม่เชื่อมั่นก็ตาม สอดคล้องกับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทั่วไป ซึ่งประกอบด้วย ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน การหางานทำปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้า ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 41.5 26.4 และ 31.9 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ 42.6 27.2 และ 32.9
อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของประชาชนอีก 3 เดือนข้างหน้า ที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ และรายได้ ปรับลดลง จากเดือนก่อนเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่น (สูงกว่า 50) ชี้ว่าผู้บริโภคยังคงมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจและรายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการใช้จ่าย ได้แก่ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพเทียบกับเดือนก่อนหน้าและ 3 เดือนที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.6 และ 49.4 มาอยู่ที่ 54.8 และ 51.0 รวมทั้ง การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทนต่างๆ ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก 13.7 และ 19.8 มาอยู่ที่ 15.0 และ 22.0 ตามลำดับ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าวเป็นสัญญานที่ดีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อว่าจะช่วยให้เกิดการใช้จ่ายและเพิ่มการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสเข้าสู่เป้าหมายตามกรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ในไม่ช้า
ข่าวเด่น