เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC ธ.ไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่อง GDP ไทยไตรมาส 4/2017 โต 4.0%YOY อีไอซีมองภาพการเติบโตแบบกระจุกตัวยังดำเนินต่อไป


สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 4 ปี 2017 ขยายตัว4.0%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้าหรือเติบโต 0.5%หากเทียบกับไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล ทำให้ GDP ของไทยในปี2017 ขยายตัวได้ที่ 3.9%

 

 

การส่งออกสินค้า – การท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงในรูปเงินบาทในไตรมาส 4 ยังคงขยายตัวได้สูงต่อเนื่องที่ 6.6%YOY จากการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า และเติบโตได้ดีในเกือบทุกตลาดส่งออก และส่งผลให้ทั้งปี 2017 เติบโตกว่า 5.6%YOY ทั้งนี้ การส่งออกเติบโตได้ดีทั้งในด้านราคาและปริมาณ โดยราคาน้ำมันดิบโลกที่ยังขยายตัวกว่า19%YOY ในไตรมาส 4 สนับสนุนให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันเติบโตสูงถึง 24%YOY นอกจากนี้ ภาคการผลิตทั่วโลกที่เติบโตดีเกินคาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมหลักจากไทยขยายตัว สะท้อนผ่านมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เติบโตได้กว่า18%YOY และ 17%YOY ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวก็เป็นอีกแรงสนับสนุนให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกภาคบริการในไตรมาส 4 ขยายตัวกว่า9.7%YOY ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เติบโตกว่า 20%YOY โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวสูงถึง 67%YOY ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เริ่มมีการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ การส่งออกภาคบริการในปี 2017 ขยายตัวอยู่ที่5.0%YOY

การบริโภคภาคเอกชนยังถูกขับเคลื่อนด้วยผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 3.5%YOY ซึ่งยังมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการบริโภคสินค้าคงทนที่ขยายตัวได้สูงที่21.8%YOY โดยเฉพาะการซื้อยานพาหนะที่เติบโตถึง 35.1%YOY ซึ่งสะท้อนถึงการใช้จ่ายของผู้มีรายได้ปานกลาง-สูง ขณะที่การบริโภคสินค้าไม่คงทน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ชะลอลงจากไตรมาสก่อน รวมถึงการบริโภคเครื่องนุ่มห่มหดตัวลง

การลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรดันลงทุนภาคเอกชนโต ขณะที่การลงทุนภาครัฐหดตัวต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 2.4%YOY ซึ่งมาจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวได้ 3.4%YOY ในกลุ่มอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม อาวุธยุทโธปกรณ์ คอมพิวเตอร์ รวมถึงรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ขณะที่การลงทุนในสิ่งก่อสร้างหดตัวทั้งการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและการก่อสร้างโรงงาน อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐยังคงหดตัวต่อเนื่องที่-6%YOY เนื่องจากการเบิกจ่ายของกระทรวงคมนาคมที่ทำได้ล่าช้าลงและมีบางโครงการก่อสร้างของรัฐบาลใกล้สิ้นสุด

อีไอซีมองเศรษฐกิจไทยปี 2018 จะขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.0% แต่ภาพการเติบโตแบบกระจุกตัวอย่างในไตรมาสที่ 4/2017 อาจยังดำเนินต่อไป ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจโลกที่ยังคงแข็งแกร่งและความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศสำคัญที่มีน้อยลง ทั้งภาคการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทยจึงน่าจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในปีนี้ การเติบโตในส่วนดังกล่าวส่งผลประโยชน์โดยตรงต่อธุรกิจขนาดใหญ่และทำให้การลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมาขยายตัว ในด้านการใช้จ่ายภาครัฐก็มีโอกาสสูงที่จะกลับมาฟื้นตัวตามการเร่งผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าการขยายตัวในลักษณะที่ไม่ได้ส่งผลประโยชน์ถึงภาคครัวเรือนมีแนวโน้มดำเนินต่อไป เพราะตัวแปรสำคัญคือตลาดแรงงานยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัวแม้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเร่งตัวมาตลอดปี โดยในไตรมาส 4 ปี2017 การจ้างงานในธุรกิจภาคเอกชนยังคงลดลงที่ -0.5%YOY ต่อเนื่องจาก -1.7%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการลดลงในภาคการเกษตร การก่อสร้าง และการผลิต สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการแรงงานที่ยังอยู่ในสภาวะชะลอตัวในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวโน้มกำลังซื้อและการบริโภคภาคครัวเรือนอาจขยายตัวได้ไม่มากนัก

จับตาความเสี่ยงจากเงินบาทแข็งและผลกระทบจากต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น อีไอซีมองว่าค่าเงินบาทจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันการส่งออก โดยค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ที่ราว 31-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงนี้ อาจกระทบต่อรายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกไทย ประกอบกับดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในเดือนมกราคมที่ยังแข็งค่าขึ้นกว่า 5.4%YOY ก็สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันด้านอัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ อีไอซีมองว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเดือน เม.. นี้ ในสภาวะที่ตลาดแรงงานยังคงซบเซา มีความเสี่ยงจะทำให้การชะลอตัวของการจ้างงานเกิดขึ้นยาวนานกว่าเดิม การสำรวจผู้ประกอบการในจังหวัดต่างๆ ของประชาชาติธุรกิจ พบว่าภาคธุรกิจเริ่มมีความกังวลต่อประเด็นดังกล่าวโดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงงานขนาดเล็ก เช่น ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ อาหารแปรรูป เป็นต้น นอกจากนี้ จากการให้สัมภาษณ์ของประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย พบว่า ธุรกิจค้าปลีกอาจได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากทางเลือกที่ค่อนข้างจำกัดในการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงาน ทั้งนี้ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีโอกาสส่งผลกระทบไปยังทิศทางของการจ้างงานในแรงงานกลุ่มที่ไม่ใช่ค่าแรงขั้นต่ำด้วยเช่นกันผ่านช่องทางการควบคุมต้นทุนของภาคธุรกิจที่อาจมีการปรับตัวในการจ้างงานระดับอื่นๆ ไปพร้อมกัน อีไอซีมองว่าประเด็นตลาดแรงงานถือเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้นๆ ที่ต้องจับตาสำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2018 นี้


LastUpdate 19/02/2561 15:34:10 โดย : Admin
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 9:58 am