KSAM ขึ้นอันดับ 5 ของอุตสาหกรรม กางแผนธุรกิจปี 61 ตั้งเป้าเพิ่มเอยูเอ็ม 13% เน้นผลตอบแทนดี คู่บริหารความเสี่ยง เติมกองทุนใหม่เพื่อการจัดพอร์ตเพิ่มกำไร พร้อมการพัฒนาระบบออนไลน์
น.ส.ศิริพร สินาเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด(บลจ.กรุงศรี) เปิดเผยว่า “สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปี 2561 บริษัทตั้งเป้ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ที่ 525,767 ล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตประมาณ 13% จากสิ้นปี 2560 จาก3 กลยุทธ์หลักคือการรักษาคุณภาพการบริหารกองทุนให้มีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างสม่ำเสมอ การผนึกกำลังร่วมกับกลุ่มกรุงศรีและ MUFG เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง มุ่งเป็นผู้นำด้านส่วนแบ่งการตลาดสำหรับกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่น และการนำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนในการจัดสรรการลงทุนที่เหมาะสมกับทุกสภาวะตลาด”
“นอกจากนี้ เรายังพัฒนาในด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยเพื่อประสบการณ์การลงทุนที่ดีสำหรับลูกค้า ทั้งในส่วนของการเพิ่มชนิดหน่วยลงทุนในกองทุนเดียวให้ลูกค้าสามารถเลือกลงทุนในแบบที่ต้องการ เช่น กองทุนKFTSTAR มีชนิดจ่ายเงินปันผลและสะสมมูลค่า หรือ Income Fund ที่มีทั้งแบบขายคืนอัตโนมัติรายเดือนและแบบสะสมมูลค่า การพัฒนา Provident Fund Service ทั้งในส่วนของระบบสำหรับนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งการพัฒนาระบบออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักลงทุนเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น เช่น Line @krungsriasset และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ Mobile Application เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลการลงทุนและสามารถทำธุรกรรมได้ด้วยตนเองในทุกที่ทุกเวลา ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปีนี้”
“สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2560 ที่ผ่านมานั้น บริษัทมีการเติบโตอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ส่วนแบ่งการตลาด และผลการดำเนินงานกองทุนภายใต้การบริหารจัดการ โดยในส่วนของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ สิ้นปี 2560 มีมูลค่า 474 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 31.22% เมื่อเทียบกับปี 2559 ในขณะที่อุตสาหกรรมเติบโตเพียง 9.22% ส่งผลให้บลจ.กรุงศรี ก้าวขึ้นมาเป็น บลจ.ที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของอุตสาหกรรมจากการเติบโตที่แข็งแกร่งในทุกประเภทธุรกิจ และมีอัตราการเติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรมถึง 3 เท่าตัว โดยเฉพาะกองทุนส่วนบุคคลที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดกว่า 101% ในส่วนของกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีการอัตราการเติบโต 22.18% และ 33.23 % ตามลำดับ” (ข้อมูล : บลจ. กรุงศรี 29 ธ.ค. 60 / ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต)
“หากพิจารณาด้านผลการดำเนินงานกองทุนจะพบว่าทุกกองทุนหลักของ บลจ.กรุงศรี(Flagship Fund) มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น ดังเห็นได้จากการที่มี 8 ใน 10 กองทุนภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทมีผลการดำเนินงานดีที่สุดจากทั้งหมด 200 กองทุนหุ้นในกลุ่มกองทุนหุ้นทั่วไป (Equity General) นอกจากนี้ ในส่วนของกองทุน LTF ยังติดอันดับกองทุนที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุด (Top Quartile) โดยกองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นระยะยาว อิควิตี้ (KFLTFEQ) เป็นกองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนดีที่สุดในปี 2560 จากผลการดำเนินงานกองทุนที่ดีอย่างสม่ำเสมอส่งผลให้ บลจ.กรุงศรี เป็น 1 ใน 5 บลจ. ที่มีเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิสูงสุดในแต่ละประเภทกองทุน ครอบคลุมทั้งกองทุนตลาดเงินและตราสารหนี้ กองทุนผสม กองทุนหุ้น และกองทุน FIF” (ข้อมูล : บลจ.กรุงศรี 29 ธ.ค. 60 / ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต)
“สำหรับกองทุนที่มียอดเงินเข้าลงทุนสุทธิสูงสุดในปี 2560 ประกอบด้วย 5 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงศรีสมาร์ทตราสารหนี้ (KFSMART) มีเงินลงทุนเข้าสุทธิ 25,046 ล้านบาท กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลสมาร์ทอินคัม (KF-SINCOME) และกองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลคอลเล็คทีฟสมาร์ทอินคัม (KF-CSINCOM) มีเงินลงทุนเข้าสุทธิ 23,274 ล้านบาท กองทุนเปิดกรุงศรีแอคทีฟตราสารหนี้ (KFAFIX) มีเงินลงทุนเข้าสุทธิ 9,641 ล้านบาท กองทุนเปิดกรุงศรีชีวิตดี๊ดี (KFHAPPY) มีเงินลงทุนเข้าสุทธิ 6,205 ล้านบาท และกองทุนเปิดกรุงศรีไทยออลสตาร์-ปันผล (KFTSTAR-D) มีเงินลงทุนเข้าสุทธิ 2,349 ล้านบาท นอกจากนี้ กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นปันผล (KFSDIV) ยังคงรักษาตำแหน่งกองทุนรวมหุ้นที่มีขนาดใหญที่สุดในประเทศไทยด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 19,737 ล้านบาท” (ข้อมูล : บลจ.กรุงศรี 29 ธ.ค. 60 / ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต)
“ด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทก็ได้รับความไว้วางใจจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นให้บริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ ที่ผู้ลงทุนมอบให้กับบริษัท ทั้งนี้ บลจ.กรุงศรี มุ่งมั่นที่จะรักษาผลการดำเนินงานที่ดีอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนให้ผู้ลงทุน” น.ส.ศิริพร กล่าว
นางสุภาพร ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี เปิดเผยว่า “บริษัทมีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากแรงหนุนของการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าการส่งออกจะยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากสัญญาณการค้าในตลาดโลกมีความแข็งแกร่งต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตดีตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ด้านการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการที่อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างและโครงการที่จะเริ่มก่อสร้างในอนาคต ส่วนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น”
“สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและตลาดตราสารหนี้ไทย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมจนถึงช่วงปลายปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบช่วงไตรมาสที่หนึ่ง ก่อนที่จะมีความผันผวนสูงขึ้นหลังจากนั้นตามความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้สหรัฐ”
“นอกจากนี้ บริษัทยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนตราสารทุนในระยะกลางถึงยาว จากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนฯ ที่มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ยังเป็นที่น่าสนใจลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆในภูมิภาค ส่วนในระยะสั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยมีแนวโน้มผันผวนไปตามปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก ได้แก่ ทิศทางการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสำคัญๆ ในประเทศต่างๆ และกระแสเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ เป็นต้น”
“ในปี 2560 ที่ผ่านมา บลจ.กรุงศรี ได้แนะนำพอร์ตการลงทุนความเสี่ยงระดับปานกลาง ได้ผลตอบแทน 16.59% สำหรับในปี 2561 บลจ.กรุงศรี แนะนำพอร์ตการลงทุนความเสี่ยงระดับปานกลาง โดยแนะนำให้ลงทุนในหุ้น 65% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ดี เน้นลงหุ้นที่เป็นหุ้นเติบโต โดยลงในหุ้นไทย 33% หุ้นต่างประเทศในตลาดพัฒนาแล้ว 22% และหุ้นต่างประเทศตลาดเกิดใหม่ 10% ในส่วนของตราสารหนี้แนะนำให้ลงทุน 35% โดยเน้นลงทุนในหุ้นกู้เอกชนคุณภาพดีเนื่องจากได้รับดอกเบี้ยสูงกว่า ในขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ยังดี เนื่องจากเศรษฐกิจเติบโต โดยให้ลงทุนในตราสารหนี้ภายในประเทศ 20% และตราสารหนี้ต่างประเทศ 15%” นางสุภาพร กล่าว
นักลงทุนสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี จำกัด โทร. 02-657-5757 หรือ เว็บไซต์ www.krungsriasset.com หรือ ติดต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
กองทุน KFSMART /กองทุน KFAFIX มีนโยบายเน้นลงทุนในเงินฝาก และ/หรือตราสารหนี้คุณภาพดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือผู้ออกตราสารในอันดับที่สามารถลงทุนได้ โดยมีอายุเฉลี่ยตราสารหนี้ในพอร์ตการลงทุนไม่เกิน 1 ปี และอาจมีการลงทุนในต่างประเทศไม่เกิน 79% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ความเสี่ยงระดับ4 เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ
กองทุน KFHAPPY มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝากทั้งในประเทศและ/หรือต่างประเทศ รวมทั้งหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และหุ้นที่อยู่ในระหว่าง IPO และอาจมีการลงทุนในหน่วย property หรือหน่วย infra กองทุนอาจจะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการ ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 100 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด ส่วนที่เหลืออาจจะลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นทั้งในประเทศและ/หรือต่างประเทศ ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดให้ลงทุนได้ ความเสี่ยงกองทุนระดับ 5: เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง และมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน
KFSDIV มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและมีแนวโน้มจ่ายเงินปันผลดี ไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV ความเสี่ยงสูงระดับ 6
KFLTFEQ มีนโยบายลงทุนในประเทศในหุ้นจดทะเบียนของบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจสูงหรือมีปัจจัย พื้นฐานดี ไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV ความเสี่ยงสูงระดับ 6
กองทุน KF-SINCOME และ กองทุน KF-CSINCOM มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศชื่อ กองทุน PIMCO GIS Income Fund (Class I-Acc) ซึ่งมีการกระจายการลงทุนไปในตราสารหนี้ ทั่วโลก ดังนั้นกองทุนอาจมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และ/หรือการเมืองในประเทศซึ่งกองทุนหลักได้ลงทุน / กองทุนจะใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเต็มจำนวน ซึ่งอาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ข่าวเด่น