นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee: NSC) (คณะกรรมการฯ) ได้เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการและแนวทางการขับเคลื่อนตามแผนการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทย (พ.ศ. 2559 – 2564) ตลอดช่วงปี 2560 จนถึงปัจจุบัน โดยมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
1. โครงการ Startup Club ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา/อาชีวศึกษา (โครงการ Startup Club) โครงการ Startup Club ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามดำริของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) มีความคืบหน้าไปอย่างมาก โดยปัจจุบัน มีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา/อาชีวศึกษาได้เข้าร่วมโครงการ Startup Club แล้วรวม 116 สถาบันใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้ดำเนินโครงการอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการ Startup Club ดังนี้
1.1 โครงการการพัฒนาครูและบุคลากรในสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาด้านมายเซ็ตการประกอบการ
คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาโครงการการพัฒนาครูและบุคลากรในสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาด้านมายเซ็ตการประกอบการ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่ครู และ/หรือเจ้าหน้าที่ในสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ Startup Club และผู้บริหารและ/หรือเจ้าหน้าที่ของคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด รวมทั้งสิ้นประมาณ 280 คน โดยจะแบ่งกลุ่มการเข้าร่วมโครงการออกเป็น 6 กลุ่มตามภูมิภาคต่าง ๆ ดังนี้ 1) กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง 2) ภาคกลางตอนบนและภาคตะวันตก 3) ภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 4) ภาคเหนือ 5) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และ 6) ภาคใต้ โดยมีธนาคารออมสินเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนในการจัดอบรมที่จังหวัดเชียงใหม่ (กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ) ระหว่างวันที่ 22 - 23 มีนาคม 2561 และจังหวัดอุดรธานี (กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน) ระหว่างวันที่ 2 - 3 เมษายน 2561 และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนในการจัดอบรมที่จังหวัดสงขลา (กลุ่มจังหวัดภาคใต้) ระหว่างวันที่ 7 - 8 พฤษภาคม 2561
1.2 Facebook Page “Startup Club Thailand”
ในช่วงเดือนธันวาคม 2560 - กุมภาพันธ์ 2561 โครงการ Startup Club ร่วมกับโครงการ Startup Mobile ได้ถ่ายทอดสด (Live) การสัมภาษณ์ผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญในวงการ Startup ผ่าน Facebook Page “Startup Club Thailand” (https://www.facebook.com/startupclubth) โดยผู้ที่สนใจสามารถรับชมย้อนหลัง รวมทั้ง ติดตามข่าวสารและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Startup ได้จาก Facebook Page ดังกล่าว
2. การจัดพิมพ์หนังสือหลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา (หนังสือสูตรลับผู้ประกอบการ ฉบับนักเรียน)
การจัดพิมพ์หนังสือหลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา (หนังสือสูตรลับผู้ประกอบการ ฉบับนักเรียน) จำนวน 5,000 เล่ม โดยคาดว่าจะจัดพิมพ์แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เพื่อส่งมอบให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Startup Club และส่งมอบให้กับกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเผยแพร่ให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ ต่อไป นอกจากนี้ จะมีการเผยแพร่ในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) เพื่อประชาชนที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้
3. การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุน (Angel Investor)
คณะกรรมการฯ ได้พิจารณามติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 ที่อนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร [มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุนที่ลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Angel Investor)] ตามที่กระทรวงการคลังเสนอและ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ โดยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการฯ ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะทำงานเพื่อสร้างความตระหนักและการรับรู้เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (คณะทำงานชุดที่ 1) พิจารณาจัดทำระบบจดทะเบียนให้กับนักลงทุน (Angel Investor) ในเว็บไซต์ http://startupthailand.org เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันเร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไปยังประชาชนและชุมชนให้มากขึ้น
ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการรายงานภาพรวมของโครงการ/มาตรการสนับสนุนกิจการ Startup ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันของหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงมีการนำเสนอผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการได้รับการสนับสนุนผ่านโครงการ/มาตรการสนับสนุนกิจการ Startup ของหน่วยงานภาครัฐดังกล่าว อาทิ (1) บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจที่ดำเนินการด้านการพัฒนาระบบคิวให้กับธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงสถานพยาบาล สถานที่ราชการ และหน่วยงานบริการประชาชน โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ NIA Venture ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2) บริษัท เอเชีย วัน คลิก จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจพัฒนาระบบจองตั๋ว และซื้อตั๋วเครื่องบิน โดยได้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้น “SPARK Global Acceleration Program” และโครงการ NIA Venture ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (3) บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการ visual effect ในภาพยนตร์โฆษณา และเกมส์ โดยเป็นโปรดักชั่นเฮาส์ระดับแนวหน้าของประเทศที่มีแผนร่วมกับกิจการระดับโลกของสหรัฐอเมริกา เพื่อผลิตภาพยนตร์คอมพิวเตอร์แอนิเมชั่น เป็นธุรกิจที่ธนาคารออมสินได้เข้าร่วมลงทุนในรูปแบบกองทุนร่วมลงทุนตามมาตรการสนับสนุน Small and Medium Enterprises ผ่านการร่วมลงทุน
ข่าวเด่น