ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อข่าวการจับกุมผู้ที่มีพฤติกรรมลักลอบล่าสัตว์ป่าสงวนกับการเอาผิดทางกฎหมายและการลงโทษทางสังคม” สำรวจระหว่างวันที่ 14 ถึง 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,211 คน
ประเทศไทยมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เพื่อป้องกันการล่าสัตว์ป่าและช่วยควบคุมปริมาณสัตว์ป่าหายากไม่ให้ศูนย์พันธ์ไป โดยมีการกำหนดบทลงโทษกับผู้ที่ล่าและค้าสัตว์ป่าสงวนตามที่ระบุไว้ในกฎหมายทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ ขณะเดียวกันได้มีการกำหนดพื้นที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างปลอดภัยโดยไม่ถูกรบกวนและถูกล่าจากมนุษย์
แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีข่าวปรากฏอยู่เป็นระยะเกี่ยวกับการจับกุมผู้ที่มีพฤติกรรมลักลอบล่าสัตว์ป่าสงวนในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า รวมถึงผู้ที่มีพฤติกรรมครอบครองสัตว์ป่าสงวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 นี้ได้ปรากฏข่าวเจ้าหน้าที่ในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเข้าจับกุมผู้บริหารบริษัทเอกชนขนาดใหญ่พร้อมพวกและตั้งข้อหาลักลอบล่าสัตว์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า
ทั้งนี้ข่าวดังกล่าวได้สร้างความตื่นตัวให้กับสังคมเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาเนื่องจากกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาถือเป็นผู้มีฐานะทางสังคม ซึ่งผู้คนในสังคมต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินคดีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ผู้มีฐานะทางสังคมเข้าไปลักลอบล่าสัตว์ป่าสงวน ขณะเดียวกันข่าวดังกล่าวยังได้สร้างความตื่นตัวให้กับผู้คนในการหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างจริงจังและมีการเรียกร้องให้ภาครัฐเพิ่มบทลงโทษกับผู้ที่มีพฤติกรรมลักลอบล่าสัตว์ป่าสงวนให้รุนแรงขึ้น รวมถึงมีการแสดงการต่อต้านกับบริษัทเอกชนซึ่งมีผู้บริหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการลักลอบล่าสัตว์ป่าสงวน จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อข่าวการจับกุมผู้ที่มีพฤติกรรมลักลอบล่าสัตว์ป่าสงวนกับการเอาผิดทางกฎหมายและการลงโทษทางสังคม
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.54 และเพศชายร้อยละ 49.46 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ เมื่อทราบข่าวการจับกุมผู้ที่มีพฤติกรรมลักลอบล่าสัตว์ป่าสงวน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 37.24 รู้สึกเศร้าเสียใจเป็นอันดับแรก รองลงมารู้สึกโกรธ/โมโหเป็นอันดับแรกคิดเป็นร้อยละ 27.17 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.49 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกสงสัยงงงวย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.96 รู้สึกเป็นเรื่องปกติธรรมดา และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 3.14 มีความรู้สึกอื่นๆ
ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีการจับกุมผู้บริหารบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ลักลอบฝ่าฝืนเข้าไปล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่านั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 46.82 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการจับกุมผู้บริหารบริษัทเอกชนขนาดใหญ่พร้อมพวกในกรณีฝ่าฝืน/ลักลอบล่าสัตว์ป่าสงวนในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าบ้าง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31.46 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามโดยละเอียด
ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.72 ยอมรับว่าไม่ได้ให้ความสนใจติดตามเลย อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.32 รู้สึกกังวลว่าคดีการจับกุมผู้บริหารบริษัทเอกชนขนาดใหญ่พร้อมพวกในกรณีฝ่าฝืน/ลักลอบล่าสัตว์ป่าสงวนในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าถึงที่สุดจะกลายเป็น “มวยล้มต้มคนดู” ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.91 กังวลว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าทำการจับกุมในคดีผู้บริหารบริษัทเอกชนขนาดใหญ่พร้อมพวกฝ่าฝืน/ลักลอบล่าสัตว์ป่าสงวนในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าจะได้รับผลกระทบ เช่น ถูกกลั่นแกล้ง ถูกข่มขู่ เป็นต้น นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.84 มีความคิดเห็นว่าข่าวการจับกุมผู้บริหารบริษัทเอกชนขนาดใหญ่พร้อมพวกที่ฝ่าฝืน/ลักลอบล่าสัตว์ป่าสงวนในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าจะส่งผลกับภาพลักษณ์องค์กรต่อสาธารณะของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่บริษัทนั้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.52 ไม่เห็นด้วยว่าการจับกุมผู้บริหารบริษัทเอกชนขนาดใหญ่พร้อมพวกที่ฝ่าฝืน/ลักลอบล่าสัตว์ป่าสงวนในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าถือเป็นเรื่องส่วนตัวโดยไม่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมาภิบาลในองค์กร
ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้ที่มีพฤติกรรมลักลอบล่าสัตว์ป่าสงวน กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.78 รู้สึกว่าระหว่างผู้ที่มีฐานะทางสังคม เช่น ข้าราชการระดับสูง ผู้บริหารบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ หรือเศรษฐี กับชาวบ้านธรรมดาทั่วไปที่ถูกจับกุมในกรณีลักลอบล่าสัตว์ป่าสงวนจะได้รับการปฏิบัติดูแล/อำนวยความสะดวกจากหน่วยงานภาครัฐแตกต่างกัน ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.48 เชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจ/อำนวยความสะดวกให้กับการลักลอบล่าสัตว์ป่าสงวนของผู้ที่มีฐานะทางสังคม เช่น ข้าราชการระดับสูง ผู้บริหารบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เศรษฐี
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.61 ไม่เห็นด้วยกับการนำเอาผู้ที่เคยถูกจับกุมในคดีลักลอบล่าสัตว์ป่าสงวนมารณรงค์เรื่องการปกป้องสัตว์ป่าสงวนให้กับสังคมหลังจากการได้รับโทษ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.13 มีความคิดเห็นว่าควรเอาผิดอย่างรุนแรงกับข้าราชการหรืออดีตข้าราชการที่มีส่วนช่วยประสานงานอำนวยความสะดวกให้ผู้มีฐานะทางสังคมลักลอบเข้าไปล่าสัตว์ป่าสงวนในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าถึงแม้ข้าราชการหรืออดีตข้าราชการผู้นั้นไม่ได้รู้เห็นเป็นใจ และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 61.6 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษทางสังคมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบล่าสัตว์ป่าสงวนจะส่งผลให้ผู้มีฐานะทางสังคมซึ่งมีพฤติกรรมชอบล่าสัตว์ป่าสงวนเกิดความเกรงกลัวได้มากกว่าการเอาผิดทางกฎหมาย
ข่าวเด่น