กระทรวงการคลังมีนโยบายคุ้มครองผู้มีรายได้น้อยไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากสถาบันการเงินที่ไม่ได้อยู่ในการดูแลของแบงก์ชาติ โดยเตรียมมีกฎหมายออกมากำกับดูแล
โดยนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้เห็นชอบร่างกฎหมายให้กระทรวงการคลังตั้งหน่วยงานขึ้นมากำกับดูแลที่ดำเนินการคล้ายสถาบันการเงินแต่ไม่ได้กำกับโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ธุรกิจเช่าซื้อ ลิสซิ่ง แฟคตอริ่ง รวมถึงพิโกไฟแนนซ์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ถูกเอาเปรียบคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินความเป็นจริง
สำหรับพิโกไฟแนนซ์ที่แม้จะตั้งขึ้นโดยกระทรวงการคลัง แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ถูกกำกับอย่างเป็นทางการโดยกฎหมาย เพียงแต่ออกมาเป็นมติ ครม. และมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นผู้ดูแล ดังนั้นการตั้งสถาบันขึ้นมากำกับดูแลหน่วยงานที่คล้ายสถาบันการเงินก็จะรวมเอาพิโกไฟแนนซ์มาไว้ด้วย
นอกจากนี้ กฎหมายยังเปิดช่องไว้ว่าหากมีหน่วยงานที่ดำเนินการคล้ายสถาบันการเงินเกิดขึ้นใหม่และไม่ถูกควบคุม ก็จะเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ หรือหน่วยงานที่คล้ายสถาบันการเงินที่ถูกกำกับโดยหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องการโอนมาให้กระทรวงการคลังอยู่ในกฎหมายใหม่ที่จะทำขึ้น กระทรวงการคลังก็มีความพร้อมเข้าไปดูแล
ปลัดกระทรวงการคลัง ย้ำว่า กฎหมายที่ร่างขึ้นใหม่นี้เตรียมไว้สำหรับอนาคต ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์มาก โดยหน่วยงานกำกับที่ตั้งขึ้นมาก็จะคล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่อยู่ภายใต้ดูแลของกระทรวงการคลัง
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การออกกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการขอสินเชื่อกับผู้ประกอบการที่ไม่ได้ถูกควบคุมจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าหลาย ๆ ธุรกิจที่เป็นการประกอบธุรกิจสินเชื่อแต่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) ยังไม่มีกฎหมาย และหน่วยงานกำกับดูแลแน่ชัด บางครั้งต้องใช้กฎหมายจากคณะปฏิวัติในการดูแล ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงต้องมีการเสนอการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแล พร้อมกับมีกฎหมายออกมาควบคุมให้แน่ชัด
สำหรับยอดสมัครพิโกไฟแนนซ์ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 59 มีผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจจนถึงเดือน ม.ค. 61 แล้ว 441 ราย ใน 66 จังหวัด มีผู้ได้รับอนุญาตแล้ว 279 ราย และเปิดบริการแล้ว 159 ราย ใน 49 จังหวัด โดยจะปล่อยสินเชื่อไม่เกินรายละ 5 หมื่นบาท และคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี
ข่าวเด่น