นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 เห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ชุดยกระดับการกำกับดูแลตลาดทุนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล (ร่าง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ชุดยกระดับฯ) ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ปรับปรุงบทนิยามการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่รัฐมนตรีกำหนดเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้กฎหมายมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับนวัตกรรมและบริการรูปแบบใหม่ ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology) และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง หลากหลาย ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง
2. เพิ่มกลไกในการแก้ไขปัญหาของบริษัทจดทะเบียน โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต) มีอำนาจสั่งให้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ในกรณีที่ไม่สามารถใช้กลไกปกติในการแก้ปัญหาได้ จะช่วยให้ทำให้บริษัทจดทะเบียนสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และป้องกันมิให้ปัญหาลุกลามในวงกว้าง
3. ยกระดับการกำกับดูแลกองทุนรวม โดยให้บริษัทหลักทรัพย์มีหน้าที่ในการจัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน รวมทั้งปรับปรุงช่องทางและวิธีการใช้สิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุน เพื่อให้โครงสร้างและการดำเนินงานของกองทุนรวมมีการตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี และผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับความคุ้มครองมากขึ้น
4. ปรับปรุงการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โปร่งใส เป็นธรรม สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
5. ปรับปรุงบทบัญญัติเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดทุน ซึ่งจะช่วยให้ตลาดหลักทรัพย์สามารถสร้างพันธมิตรและเชื่อมโยงการซื้อขายกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันระหว่างตลาดหลักทรัพย์และผู้ให้บริการระบบหรือช่องทางเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์อื่น ๆ เพิ่มประเภทหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนและสร้างความเท่าเทียมในการประกอบธุรกิจศูนย์รับฝากหลักทรัพย์
6. กำหนดให้มีศูนย์กลางในการกำหนดนโยบายและบูรณาการงานด้านการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (Capital Market Development Fund: CMDF) เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาตลาดทุนและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
7. เพิ่มประสิทธิภาพ ความชัดเจน และความโปร่งใสในการดำเนินงานในตลาดทุน โดยปรับปรุงบทบัญญัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความชัดเจน และความโปร่งใสในการดำเนินงานของคณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน และสำนักงาน ก.ล.ต.
8. ปรับปรุงบทกำหนดโทษ โดยการปรับปรุงบทกำหนดโทษและการเปรียบเทียบความผิด เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น
ร่าง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ชุดยกระดับฯ ฉบับนี้ จะช่วยทำให้โครงสร้างการกำกับดูแลตลาดทุนไทยมีความสอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลตามมาตรฐานสากล มีความชัดเจน โปร่งใส และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยยังคงยึดหลักในด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นหลัก ในขณะเดียวกันการเพิ่มความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ให้รองรับนวัตกรรมและบริการรูปแบบใหม่ที่จะช่วยสนับสนุนให้มีผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การจัดตั้งกองทุน CMDF จะทำให้มีองค์กรที่เป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบายและบูรณาการงาน ด้านการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตลาดทุนโดยรวมและผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนอย่างทั่วถึง
โดยหลังจากนี้ จะเป็นขั้นตอนการตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ชุดยกระดับฯ ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ก่อนจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
ข่าวเด่น