กระทรวงคลังปิดขึ้นทะเบียนบัตรคนจนเฟส 2 เมื่อสิ้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา พบคนจนแห่ลงชื่อ 6.2 ล้านคน คลังเร่งส่งทีมช่วยอบรม กระตุ้นอีก 2.3 ล้านคน มาขึ้นทะเบียน
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ปิดรับสมัครแจ้งความประสงค์เข้าโครงการมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนรอบสอง เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2561 ที่ผ่านมา โดยเบื้องต้นมียอดผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แจ้งความประสงค์สมัครผ่านธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ไม่ต่ำกว่า 6.2 ล้านคน จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 11.4 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5.3 ล้านคน
ทั้งนี้หลังจากนี้ผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 6.2 ล้านคน จะเริ่มเข้าโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีทีมหมอประชารัฐสุขใจกว่า 4,000 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปให้คำปรึกษา และเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหาความยากจน พร้อมทั้งได้รับการเติมเงินเข้าในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 100-200 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.เป็นต้นไป จนถึงเดือนธ.ค.2561 โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ที่เข้าโครงการระยะสอง 3 ล้านคน จะได้รับเงินเพิ่มจากเดือนละ 300 บาท เป็น 500 บาท ส่วนผู้มีรายได้ต่อปี 30,000-100,000 บาท อีกประมาณ 3 ล้านคน จะได้รับเพิ่มจากเดือนละ 200 บาท เป็น 300 บาท
ขณะเดียวกันในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.2561 กระทรวงการคลังจะส่งทีมหมอประชารัฐสุขใจ ลงพื้นที่เพิ่มเติมไปติดตามเคาะประตูบ้านผู้ถือบัตรสวัสดิการฯที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท และไม่มาแจ้งความประสงค์เข้าโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตอีก 2.3 ล้านคน เพื่อชักชวนให้เข้ามาร่วมโครงการทั้งหมด เนื่องจากกระทรวงการคลังต้องการแก้ปัญหาให้ทุกคนมีงานมีรายได้หลุดพ้นจากเส้นความยากจน โดยจะมีการสอบถามสาเหตุว่าทำไมถึงไม่เข้าร่วมโครงการ หากเป็นผู้พิการ ผู้สูงวัย หรือมีการเจ็บป่วยก็จะไม่บังคับ แต่หากเป็นคนปกติก็จะแยกบัญชีออกมาต่างหากว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
สำหรับจังหวัดที่มีผู้เข้าร่วมโครงการบัตรคนจนระยะสอง ส่วนมากมาจากภาคอีสานและภาคเหนือ มีสัดส่วนมากกว่า 60-80% โดยจังหวัดกาฬสินธุ์มีผู้เข้าร่วมมากสุดเกิน 80% หรือมากกว่า 2 แสนคน จากจำนวนผู้มีสิทธิ 2.48 แสนคน รองลงมาเป็นจังหวัดเลย ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด นครพนม ส่วนจังหวัดที่มาลงทะเบียนน้อยสุดมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีสัดส่วนแค่ 4-7% ของผู้ได้สิทธิ โดยกรุงเทพฯมาสมัครเพียง 2 หมื่นคน สัดส่วนแค่ 4% จากผู้มีสิทธิ 5.35 แสนคน สมุทรปราการสมัคร 6,000 คน จาก 1.26 แสนคน นนทบุรีสมัคร 5.5 พันคน จากผู้มีสิทธิ 1.16 แสนคน สมุทรสาคร สมัคร 3-4 พันคน จาก6.5 หมื่นคน สมุทรสงคราม 1.7 พันคน จาก 2.6 หมื่นคน
ข่าวเด่น