บมจ. ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO ผู้เชี่ยวชาญด้านลงทุนบริหารสินทรัพย์และติดตามทวงถามหนี้ เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 140 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.50 บาท เคาะราคาไอพีโอ 2.88 บาท/หุ้น ได้เม็ดเงินระดมทุนรวม 403.2 ลบ. ส่วนใหญ่นำไปใช้ประมูลซื้อกองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันเข้ามาบริหารเพิ่ม ส่วนที่เหลือจ่ายชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน “ชนะชัย จุลจิราภรณ์” หัวเรือใหญ่ บล. เออีซี ในฐานะที่ปรึกษาฯ และแกนนำการเสนอขายหลักทรัพย์ เผยการกำหนดราคา IPO เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานธุรกิจ กำหนดเปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 7 - 9 มีนาคม 2561 นี้ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ผู้ร่วมจัดจำหน่ายอีก 6 แห่ง และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ได้ในวันที่ 22 มีนาคม 2561 ด้าน “สุขสันต์ ยศะสินธุ์” ซีอีโอ CHAYO มั่นใจ เงินระดมทุนใช้เสริมศักยภาพธุรกิจและการแข่งขัน หนุนปี 61 เติบโตก้าวกระโดด เป็นอีกหนึ่งในหุ้น Growth Stock และ Dividend Stock ที่ไม่ควรมองข้าม
นายชนะชัย จุลจิราภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) (AECS) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย หุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO เปิดเผยว่า บริษัทฯ มั่นใจหุ้นไอพีโอของ CHAYO จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างดีเยี่ยม ตามแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกจำนวน 140 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ แบ่งเป็นการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปจำนวน 105 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 21 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้บริหาร (ที่ไม่ใช่กรรมการ) และพนักงานของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 7 ล้านหุ้น และเสนอขายต่อบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทจำนวนไม่เกิน 7 ล้านหุ้น
โดยกำหนดราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอที่ 2.88 บาทต่อหุ้น เตรียมเปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 7 – 9 มีนาคม 2561 โดยมีผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 6 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จํากัด, บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จํากัด (มหาชน) โดยคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 22 มีนาคม 2561 ในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน ใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “CHAYO”
“สำหรับการกำหนดราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอที่ 2.88 บาทต่อหุ้น เป็นระดับราคาที่เหมาะสม ประเมินจากแผนธุรกิจ และความสามารถการเติบโตในอนาคตของบริษัทฯ มั่นใจว่าด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ในฐานะที่ CHAYO เป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ และมีประสบการณ์การติดตามหนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี การเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai ครั้งนี้ จะเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินและหน่วยงานต่าง ๆ อีกทั้ง ยังเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรดี จึงมองว่า ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ทำให้ CHAYO เป็นอีกหนึ่งบริษัทจดทะเบียนที่น่าจับตามอง” นายชนะชัย กล่าว
ด้าน นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับราคาไอพีโอที่กำหนดไว้ 2.88 บาท/หุ้น เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ราว 403.2 ล้านบาท นำไปใช้ประมูลซื้อกองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งประเภทที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันประมาณ 248 – 306 ล้านบาท นำไปจ่ายชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงินประมาณ 57 – 96 ล้านบาท และส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานประมาณ 19 – 38 ล้านบาท ซึ่งระยะเวลาในการใช้เงินอยู่ภายในปี 2561
สำหรับพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพภายใต้การบริหารของบริษัทฯ มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมูลหนี้ก่อนหักหลักประกันในช่วง 3 ปีย้อนหลัง ในปี 2557 – 2559 มีจำนวนประมาณ 20,330 ล้านบาท 25,930 ล้านบาท และ 26,680 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนในงวดปี 2560 บริษัทฯ มีมูลหนี้ก่อนหักหลักประกันจำนวน 29,135.75 ล้านบาท โดยวางงบลงทุนราว 200 – 300 ล้านบาทต่อปี สำหรับซื้อสินทรัพย์ด้อยภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันเข้ามาบริหาร ซึ่งยังไม่รวมเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ จึงเชื่อว่า ในปี 2561 หลังจากแผนการระดมทุนแล้วเสร็จ จะยิ่งเพิ่มขีดความสามารถในการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารได้มากยิ่งขึ้น
บริษัทฯ มีรายได้รวม 206.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% จากปี 2559 ที่มีรายได้รวม 197.86 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ในธุรกิจเจรจาและติดตามทางถามหนี้ และธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า (Call Center) ที่เติบโตขึ้น ขณะที่รายได้จากธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพลดลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นไปตามภาพรวมเศรษฐกิจและการได้มาของกองทรัพย์สินด้อยคุณภาพ โดยในครึ่งหลังของปี 2560 บริษัทฯ สามารถการประมูลกองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกัน เข้ามาบริหารเพิ่มมากขึ้น โดยกองที่มีหลักประกันอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินงานปกติของการบริหารกองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบที่มีหลักประกัน ส่งผลให้รายได้จากเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพในปีนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่จะเห็นผลภายใน 1 – 3 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้หลักของบริษัทฯ ยังคงมาจากธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 78.43 ของรายได้ทั้งหมด ธุรกิจให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้อยู่ที่ร้อยละ18.26 ธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าอยู่ที่ร้อยละ 3.03 ส่วนที่เหลือเป็นรายได้อื่นๆ ร้อยละ 0.28 สำหรับ กำไรขั้นต้นในงวดปี 2560 อยู่ที่ 132.74 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 58.24 ล้านบาท และมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 64 อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ประมาณร้อยละ 28 แม้กำไรสุทธิลดลงจากปี 2559 เนื่องจากบริษัทฯ ต้นทุนในการให้บริการที่สูงขึ้นจากค่าใช้จ่ายทางกฏหมายและคอมมิชชั่นที่ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บทั้งในปัจจุบันและอนาคต ค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มสูงขึ้น จากการฟอร์มทีมผู้บริหารมืออาชีพสำหรับเตรียมพร้อมขยายตลาด และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2560 รวมทั้ง มีค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ซึ่งหลังจากเข้ามาระดมทุนได้ตามแผนที่กำหนดไว้ เชื่อว่า จะสนับสนุนให้บริษัทฯ สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงและต่อเนื่อง และสามารถสร้างกำไรที่ดีได้ในปี 61
“เพื่อปลดล็อคข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุนที่จะนำไปใช้ในการประมูลซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันเข้ามาบริหาร บริษัทฯ จึงตัดสินใจเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนให้ธุรกิจ โดยปีนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้างบลงทุนที่จะใช้ซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร รวมทั้ง การขยายธุรกิจเจรจา ติดตามและทวงถามหนี้ และธุรกิจศูนย์ข้อมูลลูกค้า (Call Center) ที่เติบโตขึ้น ตามความต้องการของลูกค้า จะส่งผลให้ปี 2561 เป็นปีที่บริษัทมีการเจริญเติบโตอย่างโดดเด่นได้” นายสุขสันต์ กล่าว
ข่าวเด่น