การค้า-อุตสาหกรรม
กยท. เดินหน้าหยุดทุจริตโกงเงินเซส พร้อมทบทวนการให้เอกชนมีส่วนปรับปรุงระบบ และเปิดรับฟังข้อเสนอการแก้ปัญหา


การยางแห่งประเทศไทย ยืนยัน ไม่เคยมีแนวคิดการจ้างเอกชนมาเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพารา (CESS) แทนคนของ กยท. เป็นเพียงการปรับปรุงระบบจัดเก็บฯเท่านั้น ซึ่งเดิมมีปัญหาเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการรั่วไหลของเงิน Cess พร้อมสั่งชะลอโครงการออกไปก่อน เพื่อเปิดรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากทุกภาคส่วน

 

 

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า การปรับปรุงระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกยางพารา (Cess) เกิดจากการพบเหตุผิดปกติซึ่งทำให้ประเมินได้ว่าอาจเกิดการรั่วไหลของการจัดเก็บเงิน Cess ไม่ว่าจะเป็นการมาขอคืนค่าธรรมเนียมของผู้ส่งออกยาง การประเมินค่าธรรมเนียมจากพื้นที่ปลูกยาง รวมทั้งการลงพื้นที่ติดตามกระบวนการการขนส่งยางพารา ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ กยท. ขาดความพร้อมเรื่องของเครื่องชั่งบริเวณด่านก่อนผ่านพิธีศุลกากร และประสิทธิภาพของระบบการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางคณะกรรมการ กยท. จึงมีมติเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 ให้ศึกษาแนวทางการปรับปรุงระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ โดยเปรียบเทียบจากต้นทุน และผลที่ได้ในหลายๆ วิธี เช่น ให้ กยท. ดำเนินการปรับปรุงระบบเอง (เพิ่มบุคคลากร วางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และเพิ่มจุดตั้งด่านชั่งน้ำหนัก) และ การว่าจ้างเอกชนมาดำเนินการปรับปรุงระบบทั้งหมด และเป็นผู้ลงทุนให้ทั้งหมด โดยที่ กยท. เป็นผู้ควบคุมขั้นตอนการดำเนินงานและจ่ายเป็นค่าจ้างให้ตามที่ตกลง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบพบว่าหาก กยท.ดำเนินการเองจะต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่าหลายร้อยล้านบาท ซึ่งจะต้องของบประมาณจากส่วนกลาง และทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ปัญหา

ดร.ธีธัช กล่าวต่อว่า กยท. จึงประกาศหาผู้สนใจให้เสนอวิธีการปรับปรุงระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง (Cess)  ในเดือน มกราคม ปี 2561 ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญเพื่อหาผู้ที่มีความสามารถในการลงทุน ตั้งแต่จัดหาที่ดินบริเวณด่านต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 17 ด่าน ติดตั้งระบบเครื่องชั่งรถบรรทุกดิจิตอล 
มีความรู้เรื่องการวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการเชื่อมต่อข้อมูลของการส่งออกยางทั้งระบบของหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบทั้ง ได้แก่ กยท. กรมวิชาการเกษตร และกรมศุลกากร โดยระบบต้องสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญของการส่งออกยาง และนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการตลาดล่วงหน้า ประเมินความเสี่ยงของผู้ส่งออกยางแต่ละราย ซึ่งจะสามารถลดปัญหาการสูญเสียและรั่วไหลในเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมลงได้  ที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงเรื่องของการวางระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งเจตนาเพื่อพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งอุดรอยรั่วของการจัดเก็บฯ ที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่การจ้างเอกชนมาเก็บค่าธรรมเนียมฯ ย้ำว่าเจ้าหน้าที่ของ กยท.ยังทำหน้าที่รับเงินค่าธรรมเนียมผ่านระบบ NSW เช่นเดิม ในส่วนของอัตราค่าจ้าง อาจแตกต่างกันได้ตามวิธีการที่ผู้รับจ้างแต่ละรายเสนอมาให้พิจารณาคัดเลือก แต่เพดานสูงสุดต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้  ซึ่งจะต้องเป็นธรรมทั้งกับ กยท. และผู้รับจ้าง จึงขอยืนยันว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของกองทุนพัฒนายางพารา อันเป็นหน้าที่สำคัญตาม ... กยท. .. 2558 กำหนดไว้ ว่าจะต้องดูแลให้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ในการนำไปพัฒนาวงการยางพาราไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ดร. ธีธัช สุขสะอาด ผวก.กยท. ได้เปิดชี้แจงที่มา เหตุผล และแนวทางการดำเนินการอีกครั้ง รวมทั้งตอบข้อซักถามร่วมกับผู้บริหารในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีการถ่ายทอดสดและมีคลิปการชี้แจงแต่ละประเด็นคำถามใน YouTube และเพื่อยืนยันความโปร่งใส ลดกระแสความไม่เข้าใจ จึงมีคำสั่งให้ชะลอการดำเนินการรับข้อเสนอในการว่าจ้างเอกชนไปก่อน เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มเติม และนำแนวทางต่างๆ ไปเสนอต่อคณะกรรมการ กยท. ในการประชุมประจำเดือนมีนาคม ที่จะถึงนี้ต่อไป  ผู้ว่าการกล่าวทิ้งท้าย


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 มี.ค. 2561 เวลา : 19:43:29
16-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 16, 2025, 12:53 am