นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 4 – 9 มีนาคม 2561 ซึ่งรัฐเอกราชปาปัวนิวกินีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปีนี้ ภายใต้หัวข้อหลัก คือ “การสร้างโอกาสอย่างครอบคลุมเพื่อเปิดรับอนาคตทางดิจิทัล” ว่า สมาชิกเอเปคได้พิจารณาประเด็นสำคัญ เช่น การส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี การร่วมกลุ่มเศรษฐกิจ การดำเนินการเพื่อไปสู่เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) ประเด็นการค้าและการลงทุนยุคใหม่ อินเตอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดจิ๋ว (MSMEs) เข้าสู่ตลาดโลก การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเชื่อมโยง เป็นต้น รวมทั้งได้มีการทบทวนการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายในการเปิดเสรีการค้าการลงทุน (เป้าหมายโบกอร์) โดยสมาชิกเอเปคได้จัดตั้งกลไกการหารือระดับสูง “กลุ่มวิสัยทัศน์เอเปค” เพื่อกำหนดทิศทางและวิสัยทัศน์เอเปคภายหลังปี 2563 ให้สอดคล้องกับประเด็นทางการค้าใหม่ และรองรับบริบทเศรษฐกิจการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ สมาชิกเอเปคได้ตกลงร่วมกันที่จะเร่งดำเนินการเตรียมการรองรับการจัดทำ FTAAP เพื่อให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ความสำคัญกับโครงการความร่วมมือที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว เช่น โครงการทบทวนโมเดลว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้า โครงการจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาMSMEs ภายใต้ FTAPP และโครงการปรับปรุงกระบวนการแจ้งมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชต่อองค์การการค้าโลก เป็นต้น รวมทั้งสนับสนุนให้สมาชิกหารือในประเด็นที่ยังตกลงไม่ได้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นเอกฉันท์และเกิดประโยชน์ต่อสมาชิก เช่น โครงการด้านความโปร่งใส ข้อริเริ่มเรื่องการส่งเสริมการพาณิชย์อย่างครอบคลุม เป็นต้น
นายรณรงค์ กล่าวว่า ไทยได้ย้ำถึงความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์และองค์การการค้าโลก ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก โดยเฉพาะความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (TFA) ซึ่งไทยได้ให้การสนับสนุนกลไกเอเปค เพื่อติดตามการใช้บังคับ TFA นอกจากนี้ ไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับเปรูและเวียดนามในโครงการยุทธศาสตร์เอเปคว่าด้วยการส่งเสริม MSMEs ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการส่งออกของ MSMEs โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลไทย ที่ให้ความสำคัญต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เพื่อการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง โดยส่งเสริม MSMEs เข้าสู่ตลาดโลก ผ่านการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในการเข้าถึงข้อมูลและกฎระเบียบการค้าของประเทศสมาชิกเอเปค ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่ตลาดเอเปคต่อไป
นายรณรงค์ กล่าวเสริมอีกว่า ไทยโดยกระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพร่วมโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านนโยบายการแข่งขันของญี่ปุ่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าให้กับสมาชิกเอเปคเกี่ยวกับข้อบทนโยบายการแข่งขันภายใต้ความตกลงการค้าเสรี เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดทำ FTAAP
เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วย สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัว-นิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา โดยเป็นกลุ่มคู่ค้าที่สำคัญของไทย ทั้งนี้ ในปี 2560 การค้าของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปค มีมูลค่า 319,660.91 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 69.6 ของการค้ารวมของไทย เป็นการส่งออก 164,216.97 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 69.4 และการนำเข้า 155,443.93 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 69.4
ข่าวเด่น