ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 มีนาคม 2561 เห็นชอบหลักการร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัล และร่างแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อการจัดเก็บภาษีรายได้และเงินปันผล ที่เกิดจากการลงทุนเงินสกุลดังกล่าวให้สอดคล้องกัน โดยมอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบเนื้อหาร่างพ.ร.ก.ให้รัดกุมก่อนที่จะมีการประกาศใช้
ซึ่งหลักการของร่างพ.ร.ก.จะกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องมีการลงทะเบียนผู้ที่ประกอบธุรกิจด้านนี้ ได้แก่ 1. ตัวกลาง หรือแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอล 2.นายหน้า หรือโบรกเกอร์ และ 3.ผู้ค้า หรือดีลเลอร์ เพื่อให้รู้ว่าใครเป็นใคร โดยจะไม่ปิดกั้นทางธุรกิจ
โดยสาระสำคัญของร่างพ.ร.ก. กำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล ประเภทเงินได้ของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล และการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล ว่า "ทรัพย์สินดิจิทัล" หมายความว่า 1.คริปโทเคอร์เรนซี 2.โทเคนดิจิทัล และ 3.ทรัพย์สินในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด
ซึ่ง“คริปโทเคอร์เรนซี" หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีราคาหรือมูลค่าอันถือเอาได้ โดยเป็นการตกลงหรือยอมรับระหว่างบุคคลในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด โดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่มีการอ้างอิงเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ใด
และ"โทเคนดิจิทัล" หมายความว่า หน่วยแสดงสิทธิในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด ทั้งนี้ ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ
ขณะเดียวกันในร่างพ.ร.ก. ยังกำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ซ) และมาตรา 40(4)(ฌ) โดยผู้มีเงินได้ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้สุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
สอดคล้องกับทิศทางในต่างประเทศ โดยธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ได้ออกรายงานเตือนว่า การออกเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลางประเทศต่างๆ จะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ เพราะถึงแม้อาจจะสร้างผลประโยชน์ในอนาคต แต่ก็มีผลกระทบอันตรายเช่นกัน รวมถึงทำให้ศูนย์กลางธนาคารมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะถูกโจมตีจากไซเบอร์
"ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการฉ้อโกงสูงขึ้นมาก เนื่องจากความสะดวกที่มาพร้อมกับการโอนเงินดิจิทัลจำนวนมากทางอิเล็กทรอนิกส์ได้" นายเบอนัวต์ โกเออร์ ประธานคณะกรรมการด้านการชำระเงินและโครงสร้างพื้นฐานตลาด (ซีพีเอ็มไอ) เป็นส่วนหนึ่งของบีไอเอส กล่าว
รายงานของบีไอเอส ระบุด้วยว่า เงินดิจิทัลอาจพลิกโฉมวิธีการออกเงิน เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับระบบชำระเงิน และเป็น วิธีการที่น่าเชื่อถือในการทำธุรกรรม ในกรณีที่อัตราการใช้เงินสดลดลง พร้อมเตือนว่า เงินดิจิทัลมีความเสี่ยงอย่างมาก และขณะนี้ยังมีความเปราะบางมากเกินกว่าที่จะนำมาใช้เป็นวิธีการทั่วไปสำหรับการชำระเงินหรือออมเงิน
ข่าวเด่น