ธุรกิจทีวีดิจิทัลที่มีปัญหามานาน ในที่สุดก็เริ่มมีทางออก ที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีทางรอดในการทำธุรกิจมากขึ้น
cr photo.m.prachachat.net
ภายหลังจากที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เชิญผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมหารือแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล
โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวภายหลังการประชุมฯว่า ในส่วนของทีวีดิจิทัล ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันในมาตรการให้พักชำระหนี้ ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยผู้ที่จะยื่นเรื่องในการพักชำระหนี้ จะต้องยื่นกับคณะกรรมการ กสทช. ภายใน 30 วัน หลังจากที่มีคำสั่ง คสช. ออกมา โดยต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะที่กสทช.จะสนับสนุนเรื่องโครงข่ายภาคพื้นดินไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลา 24 เดือน นับตั้งแต่วันที่ คสช. ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ขณะที่มาตรการช่วยเหลือด้านโทรคมนาคมในส่วนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีปัญหาการชำระเงินประมูลงวดที่ 4 ทั้งค่ายเอไอเอสและทรูมูฟ ที่ประชุมมีมติให้แบ่งชำระเป็นงวด 5 ปี ปีละหมื่นกว่าล้านบาทเศษ โดยจะต้องชำระอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นเดียวกัน
ซึ่งนายวิษณุ จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 27 มี.ค.นี้ เพื่อพิจารณาออกคำสั่งมาตรา 44 คาดว่าจะออกคำสั่งดังกล่าว ได้ภายในเดือนมี.ค.นี้ ส่วนกรณีคำพิพากษาทีวีดิจิทัลไทยทีวีนั้น ได้มีการรายงานให้ที่ประชุมรับทราบแล้ว
ด้าน นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมทีวีดิจิทัลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้ทุกฝ่ายต่างเห็นด้วยกับมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว แม้บางช่องไม่ได้มาประชุมในวันนี้ก็ตาม ทั้งนี้ระยะเวลาการพักหนี้ 3 ปี จะมีความหมายต่อผู้ประกอบการมาก ประการแรกคือ เอาเงินที่ต้องจ่ายค่างวดไปพัฒนาเนื้อหา และบุคลากร และในระหว่าง 3 ปีนี้เอง ทีวีอนาล็อกเองก็จะดูไม่ได้แล้ว ประชาชนก็ต้องไปติดกล่อง
ซึ่ง กสทช. ก็เร่งดำเนินการแจงกล่องทีวีดิจิทัล และส่งผลให้คนที่ดูช่องหลักเดิม มีโอกาสดูช่องอื่นได้เพิ่มมากขึ้น และตัวเลขโฆษณาก็จะไหลมามากขึ้น ดังนั้นมาตรการพักหนี้ 3 ปี จึงเป็นหนทางอยู่รอดของทีวีดิจิทัล
ข่าวเด่น